มีสติ รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ฝึกแล้วเราจะได้ของดี
พอเรามีสติ มีสมาธิที่ถูกต้อง
รู้เป้าหมายว่าทำไป ไม่ใช่เพื่อภพภูมิที่ดี
ไม่ใช่เพื่อจะไปเป็นเทวดาเป็นพรหม
แต่ทำไปเพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศล
รู้เป้าหมาย
ภาวนาไปเรื่อย
เรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจด้วยสติ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น
หลวงพ่อถึงใช้คำว่า
ให้มีสติ รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
มีสติ รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง นี่คือสติปัฏฐาน
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือสัมมาสมาธิ
ประโยคเดียวนี้
“ให้มีสติ รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง”
ครอบคลุมสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิเอาไว้แล้ว
ฝึกแค่นี้เอง ฝึกเล็กนิดเดียวเอง
ไม่ต้องเรียนอะไรมากมายเป็นตู้ๆ พระไตรปิฎกเยอะแยะมากมาย
เรียนแล้วไม่รู้จะเริ่มตรงไหน
เริ่มตรงที่บอกนี่
แล้วต่อไปเราจะได้สติขึ้นมา
จะเห็นความจริงของจิต
จิตเดี๋ยวมันก็ไหลไปคิด เดี๋ยวมันก็ไหลไปเพ่ง เดี๋ยวมันก็รู้
สลับไปสลับมา
ต่อไปปัญญามันเกิด มันรู้ว่าจิตไหล
จิตนี้ไม่เที่ยง
จิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง จิตผู้คิดก็ไม่เที่ยง จิตผู้เพ่งก็ไม่เที่ยง
จิตผู้รู้ก็รักษาไม่ได้ เดี๋ยวเดียวก็ไหล
จิตผู้เพ่งก็ห้ามไม่ได้ มันจะเพ่ง
จิตผู้ไหลไปหลงไป จะห้ามไม่ให้เกิด ก็ห้ามไม่ได้
มันจะหลง
อันนี้เรียกว่าเห็น อนัตตา
หรือเราจะเห็นอนิจจังบ้าง เห็นอนัตตาของจิตบ้าง
ปัญญามันจะเกิด
ตรงที่เราสามารถเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา
หรือเห็นทุกขังได้ เห็นไตรลักษณ์ได้
เรียกว่าเห็นความจริงของรูปนามกายใจ
คือตัววิปัสสนากรรมฐาน
หลวงพ่อย่อวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งการฝีกสมาธิ
ทั้งฝึกวิปัสสนา ทั้งฝึกสมาธิ
รวบลงมาเหลืออยู่ในจุดเดียวที่จะช่วยพวกเราให้ง่ายขึ้น
ก็คือ ให้มีสติ รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ให้ย่นย่อลงกว่านั้นอีกก็คือ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตเคลื่อนไป คอยรู้ทัน
ไฟล์ 610224A ซีดีพระธรรมเทศนาแผ่นที่ ๗๕