วัดผลด้วยตัวเอง

(๑)
เรียนหลักของการปฏิบัติแล้ว พึ่งตัวเองให้มากที่สุด
ไม่ต้องไปถามคนอื่นเยอะ
ประโยคที่แย่มาก ไม่มีความรับผิดชอบในการถามก็คือ
“จิตหนูเป็นยังไงคะ”
จิตหนูเป็นยังไง แล้วเขาบอกหนู หนูรู้ไหม หนูเชื่อได้ไหม
เขาอาจจะบอกถูก แต่เรามองไม่เห็น

อย่าว่าแต่คนทั่วๆ ไปเลย
อย่างพระ หรืออย่างหลวงพ่อเองสอน
บางทีลูกศิษย์ตามไม่ทัน
บอกว่า ไประวังตัวนี้ ต่อไปจะเจอตัวนี้เยอะ
เพราะเราเห็นลีลาของจิตที่เขาดำเนินไป ต่อไปเธอต้องไปเจอกิเลสตัวนี้แน่นอน
เราบอกเขา เขาก็บอกไม่เห็นมี
ตอนนี้ยังไม่เห็น หรือมีแต่ยังไม่เห็น

เพราฉะนั้น การเรียนจากคนอื่น การถามคนอื่น
โดยเฉพาะการถามสภาวะ เป็นเรื่องที่ไม่ดีเท่าไรหรอก
หัดดูสภาวะของเรา

อย่างเราไปเจอครูบาอาจารย์
เราไปบอกเลย ว่าสภาวะของเราเป็นอย่างนี้
ถูกหรือผิด อย่างนี้ค่อยน่าฟังหน่อย
ถ้าพูดแบบคนไม่รับผิดชอบ “จิตผมเป็นยังไงครับ”
เข้าไปหาหลวงปู่ดูลย์ “จิตผมเป็นยังไงครับ”
ท่านคงเข้าหูซ้ายออกหูขวา ท่านก็นั่งของท่านเงียบๆ ไม่พูดด้วย
ไม่มีคุณสมบัติที่ท่านจะเสียเวลาพูดด้วย

(๒)
ฉะนั้น เรียนหลักของการปฏิบัติให้แม่นๆ แล้วลงมือปฏิบัติ
วัดผลด้วยตัวเองดีที่สุด วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง

แล้วถ้ามีโอกาส เจอครูบาอาจารย์ที่เรารู้สึกมั่นใจ…
ซึ่งตรงนี้อันตรายมาก
ถ้าเราภาวนาของเราถูก แล้วเราไปถามเขา
แล้วเขาบอกว่าผิด คราวนี้เราก็หลงผิดไป
เพราะอย่างนั้น หลักของการปฏิบัติต้องแม่น แม่นจริงๆ
พอจะแยกแยะคำสอนต่างๆ ได้ ว่าคำสอนนั้นถูกหรือผิด
คำสอนที่ถูกนั้น ถูกระดับไหน
ครูบาอาจารย์บางท่านได้แค่สมถะ
ถ้าได้แค่สมถะ พอไปถามวิปัสสนาก็เริ่มมั่ว
บางท่านภาวนาก็ถนัดดูกาย
เราดูจิตไป ท่านภาวนาเป็นแต่เรื่องกาย แต่ยังไม่ถึงขีดสุด
คือถ้าท่านภาวนาถึงขีดสุด ท่านจะเข้าใจทั้งหมด
เหมือนท่านขึ้นภูเขาไป แล้วทีนี้ขึ้นๆ มาได้ครึ่งลูก
เราไปถาม เราไปขึ้นมาอีกทางหนึ่ง แล้วมาถามท่าน
ท่านก็งงเหมือนกัน
ท่านก็จะลากเรามาขึ้นเส้นของท่านใหม่
อย่างเราบอกเราดูจิตไป ท่านบอกโอ๊ย ดูจิตไม่ได้
นั่นไปขั้นสุดท้าย ขั้นนี้มาดูกายก่อน อะไรอย่างนี้

(๓)
เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด ศึกษาหลักให้แม่น
หลักที่หลวงพ่อบอก คือ
รู้จักขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ รู้จักไตรลักษณ์ รู้จักสติปัฏฐาน
สติปัฏฐาน เป็นวิธีการปฏิบัติ
รู้จักขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ ๑๘ เป็นตัวรูปนาม
ที่เราจะเรียนรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้

รู้จักสิ่งเหล่านี้ รู้อริยสัจ
รู้หลักของอริยสัจ ว่าทุกข์ให้รู้
อะไรเรียกว่าทุกข์ ขันธ์ห้าเรียกว่าทุกข์
หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้
อะไรเรียกว่าสมุทัย ตัณหาคือความอยาก คือตัวสมุทัย
หน้าที่ต่อสมุทัย คือการละ
อะไรคือนิโรธ นิโรธคือตัวนิพพาน
หน้าที่ต่อนิโรธ คือทำให้แจ้ง ไม่ได้ทำให้เกิด แต่ทำให้แจ้ง
มรรค คือทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
มรรค เรามีหน้าที่เจริญให้เกิดมากๆ

รู้หลักของอริยสัจเบื้องต้นอย่างนี้ แล้วลงมือปฏิบัติไป
เบื้องต้นฝึกให้มีสติ เบื้องปลายฝึกให้มีปัญญา
ก่อนจะเกิดปัญญาได้ จิตต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง
ก็ต้องเรียนเรื่องสมาธิด้วย อย่างที่หลวงพ่อพากเพียรสอน

หลวงพ่อสอนเรื่องสมาธิมากกว่าคนอื่น มากกว่าครูบาอาจารย์อื่น
ครูบาอาจารย์อื่นมักจะพานั่งสมาธิเฉยๆ
นั่งถูกหรือนั่งผิด ก็แล้วแต่บุญแต่กรรม
ส่วนใหญ่ก็นั่งแล้วเป็นมิจฉาสมาธิ มืดๆไปหมด
แต่หลวงพ่อสอนสมาธิให้
สมาธิอย่างไหนเป็นสัมมาสมาธิ
สมาธิอย่างไหนเป็นมิจฉาสมาธิ
ถ้าไม่ประกอบด้วยสติ เป็นมิจฉาสมาธิ
ถ้ายังมีสติอยู่ เป็นสัมมาสมาธิได้

แล้วสมาธิที่ถูกต้องนี่ยังแยกได้สองส่วน
ส่วนหนึ่งเอาไว้พักผ่อน เอาไว้ทำความสงบ
เอาไว้ชาร์จพลัง เพิ่มพลังของจิต
อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้เจริญปัญญา
สมาธิสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน

เมื่อก่อนมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่งที่สอนเรื่องนี้นะคือ หลวงปู่เทสก์
หลวงปู่เทสก์ท่านสอนสมาธิ ๒ อย่าง
อันหนึ่ง คือท่านเรียกว่าสมาธิ คือสมาธิที่ใช้ทำวิปัสสนา
อันหนึ่ง ท่านเรียกว่าฌาน คือสมาธิที่เอาไว้พักผ่อน
แต่ถ้าภาษาที่ถูกปริยัติเลย
สมาธิที่เอาไว้ทำวิปัสสนาเรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน
ภาษาที่ถูกสมาธิพักผ่อนเรียกว่า อารัมณูปนิชฌาน

หลวงปู่เทสก์ท่านไม่ได้เรียนปริยัติ ท่านก็บัญญัติศัพท์ขึ้นมาสมาธิสองชนิด
ทีนี้หลวงพ่อเรียนจากท่านมา เอามาแจกแจงให้พวกเราฟัง
หลวงพ่อเห็นว่าสำคัญอยู่ เพราะสมาธิผิด มันเดินวิปัสสนาไม่ได้
กระทั่งสัมมาสมาธิชนิดที่สงบเฉยๆ ก็ไม่เดินวิปัสสนา
แต่ถ้าเป็นสมาธิที่จิตตั้งมั่น แล้วมีสติระลึกรู้รูปนาม จิตถึงจะเดินวิปัสสนาได้

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่หลวงพ่อสอนอยู่เรื่อยๆ
ไปฟังซีดี ถือศีลห้าไว้ก่อน ไปฟังซีดี แล้วทุกวันปฏิบัติในรูปแบบ

พระธรรมเทศนาหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม
วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๐ ไฟล์ 600910A ซีดีแผ่นที่ ๗๒