หลักของการปฏิบัติ

หลักของการปฏิบัติ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้ไปเรื่อยๆ จิตหมดแรง กลับมาทำสมถะ ทำความสงบเข้ามา พอสงบแล้วซื่อบื้ออยู่เฉยๆ กระตุ้นมันให้มันตั้งมั่นมาทำงาน ไม่ใช่สงบเฉยๆ กระตุ้นมันโดยการสังเกตความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตเอาเรียกว่าจิตตสิกขา เราก็จะได้จิตที่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่นแล้ว แยกรูปนามเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน แยกนามต่อไปอีก แยกรูปต่อไปอีกก็ได้ รูปหายใจออกก็อันหนึ่ง รูปหายใจเข้าก็อันหนึ่ง รูปยืนก็อันหนึ่ง รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอนก็เป็นคนละอันๆ ไป ส่วนนามเราก็แยกได้ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์มันก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง นี่แยกๆๆ ออกไป ต่อไปจะเห็นสภาวธรรมทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจตรงนี้ด้วยใจจริงๆ คือพระโสดาบัน ฉะนั้นเราจะเข้าใจได้ก็ต้องพาจิตให้มันเห็นของจริงซ้ำๆๆ ลงไป แล้วพอดูๆ แล้วหมดกำลัง กลับมาทำสมาธิ กลับมาทำสมถะใหม่ ชาร์จพลังใหม่ คล้ายๆ แบตหมดแล้ว มาชาร์จแบต ถ้าจิตมีกำลังก็อย่าเฉยๆ อยู่ อย่าสงบโง่ๆ อยู่ ดูกายดูใจมันทำงานต่อไป อันนี้คือทั้งหมดของการปฏิบัติ

ทำบุญให้เกิดกุศล

บุญอะไรหลวงพ่อก็ไม่ได้ขวาง พวกเราจะทอดกฐิน ทำบุญทำทานอะไร ทำไปเถอะ มันเป็นเครื่องอาศัยเวลาเราอยู่กับโลก บางคนร้องขอโดยตัวเองไม่มีต้นทุน ไม่มีใครช่วยได้หรอก นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมจัดทอดกฐิน ไม่ทอดได้ไหม ไม่ทอดก็ได้ๆ ไม่ได้อยากได้เงินได้ทองอะไร แต่ทอดแล้วพวกเราได้ประโยชน์ คนจำนวนมากได้ประโยชน์ แล้วเวลาที่เข้ามาที่วัดที่นี่ ไม่ใช่ทอดกฐินอย่างเดียว หลวงพ่อฉวยโอกาสที่พวกเรามาทอดกฐิน พูดธรรมะให้ฟัง ก็เป็นประโยชน์อันที่สองที่พวกเราจะได้ คือนอกจากได้บุญแล้วยังจะได้ปัญญาไปด้วย รู้จักดำรงชีวิตอย่างมีเหตุมีผล พอเหมาะพอควร รู้จักการพัฒนาจิตใจตัวเองให้สูงขึ้นๆ ทำสิ่งที่เป็นบุญไว้ แล้วทำให้มันเกิดเป็นกุศลเข้ามา อยากเป็นกุศลก็ต้องฉลาด ลดละตัวตนลงไปเรื่อยๆ มีสติมีปัญญา นั่นล่ะถึงจะเป็นกุศล ลำพังการทำความดีเขาเรียกว่าบุญ ทำแล้วสบายใจ แต่ทำกุศล ทำแล้วพ้นทุกข์ สะสมความรู้ถูกความเข้าใจถูกไป