การปฏิบัติสู่อริยมรรคอริยผล

การที่เราทำกรรมฐานแล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองด้วย นอกจากจะสงบ เรายังจะได้สมาธิอีกชนิดหนึ่งแถมมาด้วย คือจิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ พอตั้งมั่นแล้วก็มีแรงแล้วก็ต้องเดินปัญญา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วจิตเราเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ก็ให้รู้ เกิดกุศลก็ให้รู้ เกิดโลภก็ให้รู้ เกิดโกรธก็ให้รู้ เกิดหลงก็ให้รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันก็พอกพูนขึ้น ถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ มันรู้จริงแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ มันก็เลยเป็นกลาง ไม่หลงยินดีกับสุข ไม่หลงยินร้ายกับทุกข์ ไม่หลงยินดีกับกุศล ไม่หลงยินร้ายกับอกุศล ถ้าเดินปัญญาถึงจุดนี้ เราเข้ามาสู่ประตูของอริยมรรคอริยผลแล้ว ถ้าบุญบารมีเราสะสมมาเพียงพอ อริยมรรคอริยผลจะเกิดขึ้นไม่มีใครสั่งจิตให้เกิดอริยมรรคอริยผลได้ จิตเกิดอริยมรรคอริยผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แก่รอบแล้ว

เดินทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน

คุณแม่ชีน้อยอยู่หินหมากเป้ง ท่านก็เคยพูดเรื่อยๆ บอก “คนหลายคนกินน้ำบ่อเดียวกัน เดินทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน” น้ำบ่อเดียวกันหมายถึงพระนิพพาน คนที่ปฏิบัติมุ่งไปที่เดียวกัน ไปพระนิพพาน เดินทางเดียวกันคือทางของเอกายนมรรค ทางของสติปัฏฐานนี่ล่ะ แต่ไม่เหยียบรอยกัน หมายถึงวิธีการปฏิบัติในรายละเอียดแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเจริญกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา สุดท้ายทุกคนจะมาลงที่ธัมมานุปัสสนาเหมือนกันหมด ลงมาตัดที่จิตนั่นเอง ก็รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ แทงตลอดปฏิจจสมุปบาทที่จิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเริ่มต้นในสิ่งที่เราทำไม่ได้

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ก่อนที่เราจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ต้องซ้อมไว้ก่อน การซ้อมก็คือการปฏิบัติในรูปแบบ แล้วต้องมีวินัยในตัวเอง ถ้าเราไม่มีวินัยในตัวเอง เราก็จะอ้าง มีข้ออ้างมากมายที่จะไม่ปฏิบัติ ทีเรื่องอื่นขาดไม่ได้ แต่เรื่องปฏิบัตินี้ขาดได้ เว้นได้ ใจมันไม่เด็ดพอ ใจแบบนี้โอกาสได้มรรคผล ยาก ต้องใจเด็ดจริงๆ ใจเข้มแข็งจริงๆ ฉะนั้นถ้าเราอยากได้ดิบได้ดี ในทางธรรมะในชีวิตนี้ เราไม่พูดถึงว่าจะสะสมบารมีอีกหลายภพหลายชาติแล้วจะได้ธรรมะ เสียเวลา ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้าไม่มีข้ออ้าง จะต้องทำอีกนานๆ ถึงจะได้

บุพพภาคมรรค

ต้องเจริญสติ เจริญปัญญาให้มาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้มาก ทำให้เจริญขึ้น ก็คือการปฏิบัติตามองค์มรรคนั่นล่ะ เมื่อปฏิบัติมากเข้าๆ ต่อไปเราก็รู้ทุกข์ การที่เราคอยรักษาศีลไว้เป็นพื้นฐาน
ฝึกจิตให้ตั้งมั่น ให้จิตมีกำลัง จิตมีกำลัง จิตต้องสงบแล้วก็ตั้งมั่น แล้วก็เจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องอื่น เราเจริญอยู่ในแนวทางของมรรค ตรงนี้ไม่ใช่อริยมรรค การที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่ใช่อริยมรรค เรียกบุพพภาคมรรค คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค เป็นจุดตั้งต้นของอริยมรรค ฉะนั้นเราก็พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาไป ปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของตัวทุกข์ เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิต ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะเห็นความจริงของกายของจิต

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

สิ่งแรกที่พระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์ ในพระสูตรพูดไม่กี่ประโยคว่า มีสิ่ง 2 สิ่ง มีธรรม 2 อย่าง ที่บรรพชิตคือผู้ปฏิบัติไม่ควรเสพ คือกามสุขัลลิกานุโยค แล้วก็อัตตกิลมถานุโยค ท่านพูดสั้นๆ พอเราเข้าสู่ทางสายกลางได้แล้ว ทำอย่างไร ท่านก็ให้เรียนรู้ สิ่งที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 เวลาจะปฏิบัติ ท่านสอนสัมมาทิฏฐิ อันนี้สัมมาทิฏฐิภาคปริยัติ เสร็จแล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ ดูแลความคิดของเรา อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ คอยรู้ไปเรื่อยๆ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ก็จะดี

มรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา

งานกรรมฐานเป็นงานฝึกจิตใจ เบื้องต้นก็ฝึกจิตใจให้มันอยู่ …

Read more

ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ถ้าใจเราเข้าใจความจริงตรงนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากโลก อย่างร่างกายเรามันก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู โลกข้างนอกก็เหมือนกัน ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็ปีหนึ่งๆ หนึ่งปีผ่านไป โลกข้างนอกก็เปลี่ยนไป ร่างกายเราก็เปลี่ยนไป จิตใจเราก็เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ วุ่นวายไปเรื่อยๆ ถ้าคนไหนทำกรรมฐาน 1 ปีผ่านไป จิตใจเราก็สงบ ตั้งมั่น แข็งแรงมากขึ้น ถ้าตามใจกิเลส 1 ปีผ่านไป จิตใจก็ยิ่งลำบากมากขึ้น ไม่มีอะไรคงที่ ชั่วหรือดีก็ไม่คงที่เหมือนกัน

เรียนรู้ให้เห็นความจริง เราไม่ได้มุ่งไปที่ความดี ความสุข ความสงบอะไรหรอก เพราะความดีไม่เที่ยง ความสุขไม่เที่ยง ความสงบไม่เที่ยง เราทำกรรมฐานเพื่อให้จิตมันเห็นความจริง ป้อนความจริงไว้ให้จิตดู ความจริงของร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความจริงของจิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้แต่โลกภายนอกก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ป้อนข้อมูลที่ดีๆ อย่างนี้ ข้อมูลที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ป้อนเข้าไปให้จิตมันเรียนรู้ไป พอมันรู้ความจริง เดี๋ยวมันก็วางโลกเอง โลกไม่มีอะไรนอกจากทุกข์

ล้างความเห็นผิด

การที่เราตามรู้ตามเห็น ความเกิดดับของกายของใจ เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมัน เกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อย บังคับไม่ได้ พอเราเข้าใจความจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น ทำไมจิตไม่รู้จักหลุดพ้นเสียที เพราะจิตไม่ยอมวาง จิตยึดอยู่นั่นล่ะ ก็ต้องอบรมฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถึงจุดที่จิตมันมีปัญญา มันฉลาด รู้ความจริงของรูปนามกายใจ มันก็วาง ไม่ใช่ของวิเศษ มีแต่ของเกิดแล้วดับ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป มันเห็นแล้วมันก็วาง

เบื้องต้นตรงที่เราเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เราวางความเห็นผิด ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ ไม่มีตัวตนถาวร อย่างปุถุชนจะรู้สึกว่า ตัวเรามีอยู่อย่างถาวร ตัวเราตอนนี้ กับตัวเราตอนเด็กๆ มันก็คนเดิม ตัวเราตอนนี้กับตอนแก่ มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติก่อน มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติหน้า มันก็คนเดิม ปุถุชนมันจะเห็นอย่างนี้ มันเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ เราพาจิตใจให้มาเรียนรู้ความจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป มันมีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีหรอกอะไรที่เป็นอมตะถาวร

ในขันธ์ 5 นี้ จะเป็นกายหรือจิตใจ เกิดแล้วก็ดับเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นการที่เราล้างความเห็นผิด ว่ามีตัวมีตนได้ เกิดจากเราเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ในขันธ์ 5 นี้ไม่มีอะไรอมตะเลย

ทำบุญให้เกิดกุศล

บุญอะไรหลวงพ่อก็ไม่ได้ขวาง พวกเราจะทอดกฐิน ทำบุญทำทานอะไร ทำไปเถอะ มันเป็นเครื่องอาศัยเวลาเราอยู่กับโลก บางคนร้องขอโดยตัวเองไม่มีต้นทุน ไม่มีใครช่วยได้หรอก นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมจัดทอดกฐิน ไม่ทอดได้ไหม ไม่ทอดก็ได้ๆ ไม่ได้อยากได้เงินได้ทองอะไร แต่ทอดแล้วพวกเราได้ประโยชน์ คนจำนวนมากได้ประโยชน์ แล้วเวลาที่เข้ามาที่วัดที่นี่ ไม่ใช่ทอดกฐินอย่างเดียว หลวงพ่อฉวยโอกาสที่พวกเรามาทอดกฐิน พูดธรรมะให้ฟัง ก็เป็นประโยชน์อันที่สองที่พวกเราจะได้ คือนอกจากได้บุญแล้วยังจะได้ปัญญาไปด้วย รู้จักดำรงชีวิตอย่างมีเหตุมีผล พอเหมาะพอควร รู้จักการพัฒนาจิตใจตัวเองให้สูงขึ้นๆ ทำสิ่งที่เป็นบุญไว้ แล้วทำให้มันเกิดเป็นกุศลเข้ามา อยากเป็นกุศลก็ต้องฉลาด ลดละตัวตนลงไปเรื่อยๆ มีสติมีปัญญา นั่นล่ะถึงจะเป็นกุศล ลำพังการทำความดีเขาเรียกว่าบุญ ทำแล้วสบายใจ แต่ทำกุศล ทำแล้วพ้นทุกข์ สะสมความรู้ถูกความเข้าใจถูกไป

หลักสูตรสู่มรรคผลนิพพาน

งานพัฒนาจิตมี 3 งาน อันที่หนึ่งฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อันที่สองแยกขันธ์ให้ได้ อันที่สามเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ เห็นสภาวะแต่ละสภาวะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูสิมันจะโง่จนไม่ได้มรรคได้ผลเชียวหรือ ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ชาตินี้ไม่ได้ชาติต่อไปก็ง่ายๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะได้ หลวงพ่อไม่ได้ชี้ขาดว่าทุกคนจะต้องได้ในชาตินี้
แต่ถ้าเราทำไม่เลิก แล้วเราไม่ได้มีวิบากอะไรรุนแรง วันหนึ่งเราก็ต้องได้
เพราะฉะนั้นทำ 3 ข้อนี้ให้ได้ คืองานพัฒนาจิต
ถ้าพูดเทียบกับปริยัติ
อันแรกก็คือ การพัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมา
งานที่สองคือ การเจริญปัญญาเบื้องต้น
อันที่สามคือ การเจริญให้เกิดวิปัสสนาปัญญา
โสดาบันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องยากเลย
รักษาศีล 5 ให้ดี แล้วก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก
ฝึกจิตใจให้มันรู้เนื้อรู้ตัวไว้ แล้วก็แยกขันธ์
กายส่วนกาย จิตส่วนจิต เป็นคนละส่วน
เห็นแค่ว่าเป็นคนละส่วน
กายก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง
ไม่ได้ถอดจิตออกจากร่าง อยู่ด้วยกันแต่เป็นคนละอัน

Page 1 of 2
1 2