สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่จะล้างอาสวกิเลสทั้งหลายได้ ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้ ก็หลงทั้งวัน มันก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งวัน หลงตลอดเวลา โมหะเอาไปกินเอาไปครอบงำไว้ทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะใดสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ธรรมะที่เป็นไปเพื่อจะลดละกิเลส เพื่อจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

หลักของการปฏิบัติ

หลักของการปฏิบัติ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้ไปเรื่อยๆ จิตหมดแรง กลับมาทำสมถะ ทำความสงบเข้ามา พอสงบแล้วซื่อบื้ออยู่เฉยๆ กระตุ้นมันให้มันตั้งมั่นมาทำงาน ไม่ใช่สงบเฉยๆ กระตุ้นมันโดยการสังเกตความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตเอาเรียกว่าจิตตสิกขา เราก็จะได้จิตที่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่นแล้ว แยกรูปนามเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน แยกนามต่อไปอีก แยกรูปต่อไปอีกก็ได้ รูปหายใจออกก็อันหนึ่ง รูปหายใจเข้าก็อันหนึ่ง รูปยืนก็อันหนึ่ง รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอนก็เป็นคนละอันๆ ไป ส่วนนามเราก็แยกได้ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์มันก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง นี่แยกๆๆ ออกไป ต่อไปจะเห็นสภาวธรรมทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจตรงนี้ด้วยใจจริงๆ คือพระโสดาบัน ฉะนั้นเราจะเข้าใจได้ก็ต้องพาจิตให้มันเห็นของจริงซ้ำๆๆ ลงไป แล้วพอดูๆ แล้วหมดกำลัง กลับมาทำสมาธิ กลับมาทำสมถะใหม่ ชาร์จพลังใหม่ คล้ายๆ แบตหมดแล้ว มาชาร์จแบต ถ้าจิตมีกำลังก็อย่าเฉยๆ อยู่ อย่าสงบโง่ๆ อยู่ ดูกายดูใจมันทำงานต่อไป อันนี้คือทั้งหมดของการปฏิบัติ

แก่นของการปฏิบัติคือจิต

แก่นของการปฏิบัติคือจิตนี้เอง เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานอย่างหนึ่งไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่คอยรู้ทันจิตตนเองไป จิตที่ไม่สงบ ก็คือจิตที่มันไหลไปทางอารมณ์ต่างๆ ไหลไปคิด ไหลไปจมอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น นั้นไม่สงบจริง แต่ตรงที่เรารู้ว่าจิตเคลื่อน ตรงนั้นล่ะความสงบจะเกิดขึ้นนิดหนึ่ง ชั่วขณะเท่านั้น ทำบ่อยๆ จนกระทั่งความรู้ตัวถี่ยิบขึ้นมาเลย หลวงพ่อสอนวิธีนี้ เพราะพวกเราทำฌานไม่ได้ สะสมสมาธิเป็นขณะๆๆ ไป พอมันมีกำลังมากแล้ว มันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันเหมือนจิตที่ทรงอุปจารสมาธิได้ มันทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา

จากจุดเล็กๆ เหมือนน้ำหยดใส่ตุ่มทีละหยดๆ น้ำก็เต็มตุ่มขึ้นมา จิตก็มีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ตรงนี้เราเอาไปเดินปัญญาได้แล้ว ถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่น อย่าพูดเรื่องเดินปัญญา ทำไม่ได้หรอก จิตยังไหลไปไหลมา หรืออ่อนแอปวกเปียก ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะฉะนั้นเราอย่าละเลยที่หลวงพ่อบอก ทุกวันต้องไปทำกรรมฐาน แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตไหลไปคิด รู้ทัน จิตไหลไปเพ่ง รู้ทัน ในที่สุดเราจะได้จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา

โลกเหมือนงูพิษ

พอเราภาวนาเราจะเห็นโลกนี้น่าเบื่อ โลกนี้น่ารังเกียจ โลกนี้สกปรก ใจมันคลายออกจากโลก มันจะยิ่งมีความเด็ดเดี่ยว มีความมุ่งมั่นในการภาวนามากขึ้น แล้วเวลาเราต้องสัมผัสกับโลก สติ สมาธิ มันจะทำงานจี๋ขึ้นมาเลย เพราะมันเหมือนเราเดินเข้าไปในฝูงงูพิษ ถ้าเราภาวนาถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ โลกนี้เหมือนงูพิษจริงๆ เลย รูปก็เป็นงูพิษ เสียงก็เป็นงูพิษ มันทำให้จิตเราเสียหายได้ทั้งหมด พอเราภาวนา พอจะอยู่กับโลก เหมือนอยู่ในหมู่งูพิษล้อมตัวเราไว้ทั้งหมดเลย มันจะโดนฉกกัดเมื่อไรก็ได้ จิตมันจะ Alert มีสติ มีสมาธิ คอยระมัดระวังอยู่ อินทรียสังวรเกิดขึ้น ศีลอัตโนมัติของเราเกิดขึ้น จิตเราก็ตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา มันจะสำรวม มันจะระวัง พอฝึกมันจะเห็นผล อยู่กับโลกไม่ได้ โลกร้อนเป็นฟืนเป็นไฟเลย มันไร้สาระหาแก่นสารอะไรไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่กับมันก็อยู่กับมัน แต่อยู่กับมันเหมือนอยู่ท่ามกลางฝูงงู โลกนี้มีแต่ทุกข์ โลกนี้ไม่มีอะไรหรอก เผลอไปยึดไปถือเข้านิดเดียวก็ทุกข์แล้ว นี่ใจก็จะยิ่งน้อมๆๆ มาหาการปฏิบัติมากขึ้นๆ ช่วงแรกๆ ต้องฝืนใจ ต้องน้อมใจ ต้องชักชวนให้จิตใจปฏิบัติ แต่เมื่อเราปฏิบัติไปถึงช่วงหนึ่ง ไม่ต้องชักชวนแล้ว จิตใจมันเอือมระอาต่อโลกข้างนอก มันอยากปฏิบัติของมันเอง ตรงนี้อัตราเร่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติมันก็จะมากขึ้นๆ ยิ่งภาวนายิ่งไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ เร็ว อันนี้ไม่ว่าพระหรือโยมก็ทำได้ ขอให้ตั้งใจเถอะ

พัฒนาเครื่องมือให้ดี

อันแรกถือศีลไว้ แล้วก็ฝึกสติของเรา คอยระลึกรู้กาย คอยระลึกรู้ใจเนืองๆ ต่อไปไม่ได้เจตนาระลึก พอมีอะไรเกิดขึ้นในกาย สติเกิดเอง มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเกิดเอง สติตัวนี้เป็นสัมมาสติแล้ว แล้วจิตมันเคลื่อนไปๆ หลงไปที่อื่น รู้ทัน หลงไปในอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน หลงไปแสวงหาอารมณ์ว่าจะดูอะไรดี ควานๆๆ รู้ทัน สติรู้ จิตก็เด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ขึ้นมา มีสัมมาสมาธิขึ้นมา

เป้าหมายสูงสุดคือความดับทุกข์

เราจะทำอะไร เราก็ต้องรู้วัตถุประสงค์ว่าเราต้องการทำอะไรเพื่ออะไร ต้องชัดเจน ไม่ใช่เห็นคนอื่นเขาอยากปฏิบัติก็อยากปฏิบัติตามเขาอะไรอย่างนี้ มันไม่ได้เรื่องหรอก เราต้องรู้ว่าการปฏิบัติธรรม วัตถุประสงค์จริงๆ เพื่อถอดถอนความทุกข์ออกจากใจเราให้ได้ จุดหมายสูงสุดก็คือความดับทุกข์ มี 2 ตัว ความดับทุกข์อันนี้เป็นวัตถุประสงค์สูงสุด เป้าหมายของเราอันแรกเลยก็คือต้องพ้นทุกข์ก่อน

กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

ทำวิปัสสนาพอสมควร พอจิตเริ่มเหนื่อยก็หยุด อย่าตะบี้ตะบันทำวิปัสสนา ก็ต้องหยุดทำสมถะขึ้นมา ทำสมาธิให้จิตมีกำลังขึ้นมาแล้วไปเดินปัญญาต่อ ถ้าเดินอย่างนี้ทำให้มาก เจริญให้มาก ไม่ขี้เกียจไม่ใช่นานๆ ทำที ทำให้ได้ทุกวันๆ ทำให้ได้มากที่สุดที่จะทำได้ เราก็อาจจะได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ ไม่ต้องรอชาติไหนหรอก ถ้าเราทำไม่ถูก ทำถูกแล้วขี้เกียจ ยังไม่ได้หรอกอีกนาน กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ