รักษาใจยามเจ็บไข้

สำหรับคนที่เจ็บป่วย ทำใจไว้อย่างหนึ่งว่าความเจ็บป่วยก็เป็นของชั่วคราว มันไม่มีใครหรอกเจ็บตลอดชาติ เจ็บตลอดเวลา ความเจ็บปวดมันก็อยู่ชั่วคราว มันมาแล้ว เดี๋ยวมันก็ไป เพียงแต่บางคน ถ้าร่างกายอ่อนแอมาก ความทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บ มันไปพร้อมกับชีวิตเรา ยังไงเราก็ไม่แพ้มัน อย่างมากก็เสมอกัน

ไม่มีที่มันชนะเราหรอก อย่างมากก็เสมอกัน ถ้าอย่างเราเป็นมะเร็ง เราตาย เซลล์มะเร็งตายด้วย มันอยู่ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นบอกกับมันดี ๆ ว่า “เอ็งน่ะ อย่าอาละวาดมากนัก” แผ่เมตตาให้มันบ้าง พอเราแผ่เมตตา ใจไม่เกลียดมัน ใจจะสบาย พอใจสบาย สมาธิเกิดขึ้นมา ใจมันร่มเย็นเป็นสุข มีความสุข มีกำลัง มีกำลังใจ เราไม่ต้องคิดอะไรมาก เวลาเราผ่านการรักษาที่ยาวนาน บางคนบอก “โอ้โห อาจารย์จะต้องให้คีโม ๖ ครั้ง ๘ ครั้ง อะไรเนี่ย ฟังแล้วท้อแท้ใจ” อยู่เป็นวัน ๆ ไป มีชีวิตเป็นขณะ ๆ เป็นวัน ๆ ไป วันนี้ให้ทำอะไรก็ทำไป อย่าไปคิดว่าเหลืออีกกี่วัน เหลือต้องให้ยาอีกกี่รอบ คิดมากก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันไปทีละวัน ๆ แป๊บเดียวเอง

ศาสตร์ที่ท้าให้พิสูจน์ ไม่ใช่ชวนให้เชื่อ

เราต้องรู้หลัก ว่าหลักธรรมคำสอนที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร เราจะได้ปฏิบัติได้ถูก แล้วถัดจากนั้นเราก็ลงมือปฏิบัติ เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว เราจะเห็นผลของการปฏิบัติเป็นลำดับๆ ไป เราจะพบว่า ความทุกข์ในใจเราน้ีสั้นลงๆ เคยทุกข์นานก็ทุกข์สั้น เคยทุกข์หนัก ก็ทุกข์น้อย ถ้าฝึกถึงขีดสุดนี่ ไม่ทุกข์อีกต่อไป

เป็นศาสตร์ที่ท้าให้พิสูจน์ ไม่ใช่ชวนให้เชื่อ เป็นความอหังการ กล้าหาญมาก ท้าให้พิสูจน์ เอหิปัสสิโก พึงกล่าวกับผู้อื่นว่ามาลองดูเถิด ไม่ใช่จงเชื่อเถิด ลองดูวิธีที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้ ลงมือทำแล้ว ดูผลด้วยตัวเอง ว่าทุกข์มันน้อยลงไหม ทุกข์มันสั้นลงไหม ถ้าเราพบว่าความทุกข์มันน้อยลงๆ ความทุกข์มันสั้นลงๆ ความเชื่อมั่น ความศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าก็จะเกิดขึ้น ทุกวันนี้เราเป็นชาวพุทธแต่ชื่อ เราไม่ได้รู้คุณค่าของพุทธศาสนาเลยว่าจะช่วยอะไรเราได้

เรื่องธรรมดา

การปฏิบัติธรรม เราต้องมาเรียนว่าธรรมดาของกายเป็นอย่างไร ธรรมดาของใจเป็นอย่างไร มาเรียนตัวนี้จนเห็นความเป็นจริงของมันแล้ว ธรรมดาเป็นอย่างนี้แหละ ธรรมดามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญามันก็เกิดขึ้นมา ว่ามันไม่ใช่ตัวเราหรอก
ถ้าปัญญาขั้นสูงขึ้นไป
เห็นเลยตัวนี้กายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์
ถ้าเห็นถึงกายถึงใจว่าเป็นตัวทุกข์ก็ล้างอวิชชาได้