รู้ทุกข์ไว้

รู้ทุกข์ไว้ อะไรคือทุกข์ กาย จิตคือทุกข์ รู้อย่างไร รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น คือเป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ รู้จิตอย่างไร รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นไตรลักษณ์ จะรู้กายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ ไม่หลง ไม่ลืมกายลืมใจ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน แล้วก็ไม่บังคับแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต เรียกว่ารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิต แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงให้มันผิดจากความเป็นจริง หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้อย่างไร หัดหมายรู้ ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปความคิดมันก็จะถูก เมื่อความคิดถูก ความเห็นมันก็จะถูก ความเห็นถูกเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นล่ะ เกิดขึ้นเมื่อไร อวิชชาตายไปแล้วเมื่อนั้น พออวิชชาตายไปแล้ว อาสวะก็ย้อมจิตไม่ได้ ชาติภพอะไร มันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นที่จิตได้แล้ว ภพชาติไม่ได้ก่อตัวที่อื่นเลย มันก่อตัวที่จิตนี้ล่ะ เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ภพชาติก็ก่อตัวขึ้นได้ ด้วยกำลังของอาสวะ

ภาวนาต้องรู้จักปลีกตัว

เราจะภาวนาให้ตลอดรอดฝั่ง ต้องรู้จักปลีกตัวออกจากหมู่คณะที่วุ่นวายบ้าง มีโอกาสปลีกตัวออกจากหมู่คณะที่วุ่นวายได้ก็ปลีกตัวเสีย แต่ถ้าไม่มีโอกาสปลีกตัว ก็ดูแลรักษาจิตของตนเองไว้

วันใดที่เราภาวนา เราสามารถสงบอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายได้ มีความสงัดๆ สงบ ปลีกตัวออกจากความวุ่นวายทั้งๆ ที่อยู่ท่ามกลางความวุ่นวายนั่นล่ะ แล้วชีวิตเราจะมีความสุข มันเรื่องอะไร เกิดมาแล้วต้องคลุกคลี มั่วสุม จมอยู่กับความทุกข์ตลอดเวลา ผู้มีปัญญาก็มีวิธีถอดถอนตัวเองออกจากโลก จากความวุ่นวาย ก็ปฏิบัติไป มีสติรู้เท่าทัน กายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตเคลื่อนไหว รู้สึก ทำไปเถอะ ต่อไปก็จะได้กายวิเวก ได้จิตตวิเวก ได้อุปธิวิเวก เป็นลำดับๆ ไป