รู้ทุกข์ไว้

รู้ทุกข์ไว้ อะไรคือทุกข์ กาย จิตคือทุกข์ รู้อย่างไร รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น คือเป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ รู้จิตอย่างไร รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นไตรลักษณ์ จะรู้กายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ ไม่หลง ไม่ลืมกายลืมใจ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน แล้วก็ไม่บังคับแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต เรียกว่ารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิต แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงให้มันผิดจากความเป็นจริง หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้อย่างไร หัดหมายรู้ ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปความคิดมันก็จะถูก เมื่อความคิดถูก ความเห็นมันก็จะถูก ความเห็นถูกเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นล่ะ เกิดขึ้นเมื่อไร อวิชชาตายไปแล้วเมื่อนั้น พออวิชชาตายไปแล้ว อาสวะก็ย้อมจิตไม่ได้ ชาติภพอะไร มันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นที่จิตได้แล้ว ภพชาติไม่ได้ก่อตัวที่อื่นเลย มันก่อตัวที่จิตนี้ล่ะ เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ภพชาติก็ก่อตัวขึ้นได้ ด้วยกำลังของอาสวะ

อย่ามัวแต่เถลไถล

พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมจบแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว จบลงที่ไหน จบลงที่จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันพ้นแล้ว มันไม่มีงานที่จะต้องทำต่อ เพื่อจะให้จิตหลุดพ้นอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องทำแล้ว หลุดแล้วหลุดเลย ฉะนั้นชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว มันรู้สึกอย่างนั้น นั่นล่ะที่สุดของทุกข์

ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงธรรมนั้นเอง ธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ตัวนี้มันเป็นธรรมะเหนือโลก เหนือขันธ์ เหนือวัฏสงสาร ไม่อย่างนั้นยังไม่มีจุดสิ้นสุด ก็ยังเวียนว่ายไปเรื่อยๆ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แค่เข้าใกล้ แล้วปุถุชนอย่างพวกเรา มันจะเห็นไหม ไม่เห็นหรอก ต้องฝึกตัวเองให้มาก อย่าวุ่นวายเถลไถล ที่น่าห่วงเลยก็คือพวกเราชอบเถลไถล ตั้งใจภาวนาเอาจริงเอาจัง ยังไม่ค่อยจะรอดเลย แล้วเถลไถล แล้วมันจะรอดหรือ มันไปไม่รอดหรอก นี่ล่ะกฎแห่งกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ หรือทำในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ได้