จิตที่เปิดรับธรรมะ

เวลาฟังธรรมะ ฟังซื่อๆ ไม่ต้องตีความมาก ฟังไปคิดไปมันก็เรียนปริยัติล่ะถ้าอย่างนั้น เราจะฟังธรรมะได้แล้วรู้เรื่องดี ถ้าจิตของเราเป็นกุศล มหากุศลจิต ลหุตา เบา มุทุตา นุ่มนวล ปาคุญญตา คล่องแคล่วว่องไว ไม่เซื่องซึม กัมมัญญตา ควรแก่การงาน ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน อุชุกตา รู้ซื่อๆ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้ ใจอย่างนี้รับธรรมะง่าย ฉะนั้นเราปรับจิตใจของเรา ให้มันเป็นกุศลไว้ก่อน แล้วฟังธรรม เราจะได้ประโยชน์มาก ถ้าฟังไป แล้วก็ใจก็หนักๆ แน่นๆ เพ่งเอาไว้มากๆ บางคนเพ่ง เพ่งจนเครียด ฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง จิตใจเหมือนกับครกหินทั้งลูก เอาน้ำสาดลงไป ไม่ซึมสักนิดเดียวเลย ใจกระด้าง กูก็แน่ กูก็หนึ่ง พวกนี้ก็รับธรรมะไม่ได้ พวกหัวดื้อหัวรั้น เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ฉะนั้นเราสังเกตจิตใจเรา ให้จิตใจเราเป็นกุศลที่แท้จริง จิตใจที่เป็นกุศล เป็นจิตใจที่ฉลาด มันพร้อมที่จะรับธรรมะ

หลักการปฏิบัติ

ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน