การยกระดับความสุข

ฝึกแล้วเราจะได้ความสุขที่ประณีตมากขึ้น ความสุขของสมาธิชนิดสงบ มันความสุขของเด็กๆ ได้ของเล่นที่พอใจแล้วก็ไม่ไปซนที่อื่น ความสุขของจิตที่ตั้งมั่น เป็นความสุขแบบผู้ใหญ่ พร้อมที่จะรับสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวง ด้วยจิตที่เข้มแข็ง อะไรก็ได้ที่ผ่านมา จิตมันตั้งมั่นเป็นคนเห็นเท่านั้นเอง ไม่อิน นี่ก็เป็นความสุขของสมาธิ 2 ชนิด ความสุขที่ประณีตขึ้นไปอีก คือความสุขจากการเจริญปัญญา เราเกิดความรู้ความเข้าใจ จิตใจมันอิ่มเอิบ มีปัญญา แล้วก็ถัดจากนั้น ถ้ามันเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล มันมีความสุขยกระดับขึ้นไปอีก พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง เพราะนิพพานสงบอย่างยิ่ง สงบจากกิเลส สงบจากตัณหา สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากความยึดถือทั้งปวง เพราะฉะนั้นมันมีความสุขอย่างยิ่ง ความสุขอย่างนี้พวกเรามีโอกาสเข้าถึง เพราะเราได้ยินได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว คือเรื่องของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิด

จุดอ่อนของปัญญาชน ก็คือคิดมาก หลายคนหลวงพ่อสอนให้รู้สึกตัว ให้ดูกายดูใจ เขาบอกเขายังดูไม่ได้ ต้องคิดไว้ก่อน เออ ก็คิดไป ชาตินี้คิด ชาติหน้าก็ไปคิดต่อ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนด้วยการรู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจ ดูกายหายใจออก หายใจเข้า ก็เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่เราหายใจออก ไม่ใช่เราหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน

อย่าให้นิวรณ์ครอบงำจิต

เราต้องปฏิบัติตลอดชีวิต ไม่มีคำว่ายอมแพ้ บางครั้งเบื่อ เบื่อรู้ว่าเบื่อแล้วก็ภาวนาต่อ ปฏิบัติต่อ บางครั้งขี้เกียจ รู้ว่าขี้เกียจแล้วก็ปฏิบัติต่อ ใจมันจะเบื่อ ห้ามมันไม่ได้ ใจมันจะขี้เกียจ ห้ามมันไม่ได้ ความเบื่อความขี้เกียจอะไรนี่นิวรณ์ทั้งนั้นล่ะ เพราะฉะนั้นตัวนิวรณ์อย่ามองข้ามมัน ที่เราไม่เจริญก็เพราะตัวนิวรณ์นั่นล่ะ ในทางโลกนิวรณ์มาก งานการทางโลกก็เสีย ในทางธรรมนิวรณ์มาขวางกั้น ธรรมะก็ไม่เจริญ ฉะนั้นสังเกตจิตใจตัวเอง อย่าปล่อยให้นิวรณ์ครอบงำจิต

หลักการปฏิบัติ

ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน

ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

ปฏิบัติบูชา

การปฏิบัติบูชานั้น ไม่ใช่อยู่ที่กิริยาอาการภายนอก ที่สำคัญคือใจเราเคารพรักบูชาพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม พระอริยสงฆ์จริงแค่ไหน รูปแบบภายนอกใครๆ ก็เดินได้ ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินๆ ไป ก็บอกว่าเวียนเทียน แต่พวกเราเป็นนักปฏิบัติ เราไม่ได้เวียนเทียนโดยใช้แค่ดอกไม้ธูปเทียน อันนั้นมันเป็นอามิสบูชา มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่สำคัญ

การปฏิบัติบูชาก็คือ พยายามฝึกจิตของเราให้ดี จิตเราระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้ แต่ไม่ว่าเราจะคิดถึงพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ ในความเป็นจริงแล้ว พระรัตนตรัยก็เป็นหนึ่งเดียวกัน ให้ใจของเราผูกพันอยู่กับพระ ทุกก้าวที่เดิน ก็เดินด้วยจิตใจที่ระลึกถึงพระเอาไว้ นั่นล่ะเป็นการปฏิบัติ ไม่ใช่กราบไหว้วัตถุ อย่างพระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นแค่สัญลักษณ์ให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจริงๆ ก็คือองค์ธรรม ธรรมะนั่นเอง ฉะนั้นเวลาเราเวียนเทียน ทุกก้าวที่เดิน เดินด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ได้เดินตามใจกิเลส ก็เรียกว่าเราเดินไป ก็ขัดเกลาตัวเองให้สะอาด ให้หมดจดมากขึ้นๆ ไม่ได้เดินเอาเฮง ไม่ได้เดินเอาสวยอะไร เดินระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไป ใจเราจะค่อยๆ สะอาด

การรู้สึกกายรู้สึกใจ 2 ขั้น

การที่เรารู้สึกกาย รู้สึกจิตมี 2 สเต็ป ขั้นแรก รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจตัวเอง ร่างกายมีอยู่ รู้สึก ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมีอยู่ รู้สึก ถัดจากนั้น ก็รู้ให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ทีแรกเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ ลึกลงอีกชั้นหนึ่ง รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ตรงนี้เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้

การที่หลวงพ่อบอกให้มีสติ คือคอยรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ อันนี้สมถะ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ อันนี้คือวิปัสสนา ทำสมถะก็ต้องมีสติ ทำวิปัสสนาก็ต้องมีสติ ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ หลวงปู่มั่นสอนชัดเจน “มีสติคือมีการปฏิบัติ ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ” ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว เดินจงกรมแล้วก็เครียด ไม่ได้ปฏิบัติ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้นรู้สึกตัวให้เป็นแล้วการปฏิบัติธรรมจะไม่ยากเท่าที่คิดหรอก

หมายรู้ให้ถูก

สติระลึกรู้กาย สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย ปัญญาก็เกิด สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาหมายรู้อย่างถูกต้อง ปัญญาก็เกิดก็วาง พอปัญญาเกิดมันจะละ มันจะวาง มันจะเป็นตัวตัด ปล่อยวาง มันวางของมันเอง ไม่มีใครสั่งปัญญาให้เกิดได้หรอก อาศัยการเจริญสติ แล้วก็หมายรู้ให้ถูกไปเรื่อยๆ นั่งอยู่อย่าไปคิดว่าเรานั่ง พยายามรู้สึกไป ถ้ามันมองไม่เห็นด้วยตัวเอง พยายามรู้สึกว่ารูปมันนั่ง ร่างกายมันนั่ง ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไป ไม่ได้เจตนา เวลาร่างกายเคลื่อนไหว มันเห็นรูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว พอมีความหมายรู้ถูก เกิดความคิดถูก ต่อไปก็เกิดความเห็นถูก ตัวความเห็นถูกนั้น ตัวปัญญา ฉะนั้นหมายรู้ให้ถูก แล้วก็ความเห็นถูกคือตัวปัญญามันก็จะเกิด

ทำสมาธิด้วยความมีสติ

วิปัสสนาคือการเห็น ปัสสนะ แปลว่าการเห็น ตรงตัวเลย วิ แปลว่าแจ้ง คือเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เราเห็นกายถูกต้องตามความเป็นจริง คือเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตถูกต้องตามความเป็นจริง ก็คือเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นตามความเป็นจริงได้ จิตต้องไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด มิฉะนั้นผิดทันที จิตต้องตื่น ตื่นขึ้นมาให้ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องภาวะที่จิตเราตื่นขึ้นมา มีสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา เป็นเรื่องใหญ่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราขาดมากที่สุดเลย ฆราวาสทั้งหลายขาดสัมมาสมาธิ ขาดสมาธิที่ถูกต้อง มีสมาธิเคลิ้มๆ สมาธิเห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นไม่ได้เรื่องอะไร ไปทำสมาธิแล้วก็มีสติคอยรู้ทันจิตเอาไว้ แล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาๆ ทั้ง 8 ประกอบด้วยสติทั้งสิ้น ขาดสติตัวเดียว สัมมาทั้งหลายหายหมด กลายเป็นมิจฉาหมดเลย ฉะนั้นสติจำเป็น จำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

Page 1 of 3
1 2 3