จากสังขตธรรมสู่อสังขตธรรม

โลกไม่มีอะไร โลกเป็นแค่ความปรุงแต่ง หรือเรียกว่าสังขตธรรม เรียกง่ายๆ ว่าสังขาร สังขารมีหลายความหมาย สังขารขันธ์หมายถึงความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต สังขารในภาพใหญ่หมายถึงกายใจของเรา รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้เรียกว่าสังขาร ภาวนาไปก็จะเห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาทดแทน ถ้าเรารู้โลกแจ่มแจ้ง โลกนี้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นอย่างนี้ จิตมันจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วจิตมันจะเข้าถึงสภาวธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คืออสังขตธรรม

วิธีปลดปล่อยใจให้พ้นจากอาสวะ

วิธีที่เราจะปลดปล่อยใจของเราให้พ้นจากอาสวกิเลสได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ภาวนาไป เจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ จนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงที่ไม่ถือมั่น เพราะฉะนั้นคำว่าไม่ถือมั่น ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น มันจะเป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 ในกายในใจของเราได้ โดยเฉพาะไม่ยึดมั่นในจิตได้ เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็คือการที่เราเห็นความจริงของจิตใจตัวเอง เราเห็นขันธ์ 5 ทั้งกายทั้งใจ ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าเห็นความจริง เพราะเห็นความจริงก็จะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้น ตรงที่หลุดพ้นก็คือ จิตมันหมดความยึดถือในร่างกาย หมดความยึดถือในจิตใจ ทันทีที่จิตมันรู้แจ้งแทงตลอดตัวนี้ มันหมดความยึดถือ

ใช้รูปธรรมนามธรรมเป็นอารมณ์กรรมฐาน

เราจะปฏิบัติธรรมเราต้องรู้หลักให้ดี งานที่เราจะทำ งานหลักคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือรูปธรรมนามธรรม อย่างร่างกายเราเป็นรูปธรรม ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทั้งหลายเป็นนามธรรม ร่างกายเป็นตัวรูปธรรม เจริญปัญญานี้ก็ต้องรู้รูปธรรมรู้นามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรม ถัดจากนั้นรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม หรือเบื้องต้นรู้ความมีอยู่ของนามธรรม ถัดจากนั้นก็รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของนามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ แล้วต่อไปก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ร่างกายนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ถูกความทุกข์บีบคั้น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา แล้วก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตใจไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการเจริญปัญญา

สติมีหน้าที่รักษาจิต

เรามีสติคุ้มครองรักษาจิตตนเองไปเรื่อยๆ คุ้มครองไม่ใช่ไปเฝ้าไม่ให้จิตกระดุกกระดิก มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองนั่นล่ะ คอยอ่านจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง เราไม่ต้องรักษาจิต รักษาอย่างไรก็ไม่ได้ สติจะทำหน้าที่อารักขา อารักขาคือมันทำหน้าที่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย จิตก็ได้รับความคุ้มครองได้รับการดูแล ไม่ทำผิดศีล ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความตั้งมั่น แล้วการที่เรามีสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้อะไรก็ตาม อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ได้

เคล็ดวิชาฝึกจิตเพื่อเดินปัญญา

จิตที่พร้อมเจริญปัญญา ก็เป็นจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นเป็นจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน ส่วนจิตที่เป็นกลาง ตัวนี้จะทำให้จิตมีพลัง เป็นอารัมมณูปนิชฌาน หลวงพ่อถึงบอกว่า “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงคือการเจริญปัญญา สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเจริญปัญญา คือ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็คือสภาวะที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั้นล่ะ ตั้งมั่นเอาไว้เดินปัญญา เป็นกลางนี้เอาไว้ชาร์จพลังให้จิตมีเรี่ยวมีแรง ในสติปัฏฐานทั้ง 4 ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกอะไร อันนั้นแสดงไตรลักษณ์ทั้งหมด เราเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ที่หลวงพ่อใช้คำว่า “เห็นตามความเป็นจริง” ความเป็นจริงคือไตรลักษณ์

วิธีล้างความเห็นผิด

จะล้างความเห็นผิด ลองมาดูความจริงของร่างกายตัวเอง ดูความจริงของจิตใจตัวเอง ไม่ต้องไปดูข้างนอก เพราะข้างนอกใครๆ มันก็รู้ว่าไม่ใช่เรา ความหลงผิดมันอยู่ที่ว่า กายนี้คือเรา จิตใจนี้คือเรา เพราะฉะนั้นเราต้องดูเข้ามาตัวนี้ให้ได้ ถ้าล้างความเห็นผิดได้ว่ากายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายและก็จิตใจ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เหมือนความฝัน ความสุขเกิดขึ้นก็เหมือนฝัน ความทุกข์เกิดขึ้นก็เหมือนฝัน กุศลอกุศลเกิดขึ้น มันก็เหมือนเราฝันอยู่ ฝันว่าโลภ ว่าโกรธ ว่าหลง

หลักการปฏิบัติ

ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน

รู้ว่ากายใจเป็นทุกข์จึงหมดความยึดมั่น

ถ้ามีสติอยู่กับร่างกาย รู้สึกไป ไม่นานเราก็จะเห็นความทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ มีสติรู้สึกจิตไปเรื่อยๆ ไม่นานเราก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น เรายึดกายมากเพราะเราเห็นว่ากายเป็นตัวสุข เป็นตัวดี พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ความรักใคร่หวงแหนในร่างกาย ก็จะลดลงจนกระทั่งวันหนึ่งมันไม่ยึดถือในร่างกาย ต่อไปก็ดูจิตใจไป เห็นจิตใจเป็นตัวทุกข์ เรียกรู้ทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนในจิตใจ ก็วางตรงที่วางนั่นล่ะคือตัวนิโรธ ปล่อยวางได้

ทุกขาปฏิปทา

ภาวนาอย่ากลัวทุกข์ อย่ากลัวลำบาก อดทนเอา แต่ว่าดูตัวเอง ถ้ากิเลสของเราเป็นพวกกิเลสเบาบาง ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติโหดๆ ถ้าพวกกิเลสหนา ราคะแรง โทสะแรง หรือโมหะแรง พวกนี้ต้องทุกขาปฏิปทา อดนอน ผ่อนอาหาร นั่งสมาธิ เดินจงกรม ให้ห้าวหาญ สู้ตาย ถ้ารอดมาก็จะได้ดี แต่บอกให้อย่างหนึ่ง ไม่เคยมีใครนั่งสมาธิแล้วตายหรอก ไม่เคยมีใครปฏิบัติแล้วตายหรอก เพราะฉะนั้นอ่อนแอไม่ได้ ดูตัวเองเลย ถ้าเป็นคนที่กิเลสรุนแรง อดทนไว้ ขยันนั่งสมาธิ ขยันเดินจงกรม

จิตประภัสสร

จิตประภัสสรผ่องใสได้ เพราะไม่มีราคะ โทสะ โมหะ จรเข้ามา แต่เราปฏิบัติธรรมทีไร ราคะ โทสะ โมหะ มาเยอะแยะเลย แล้วยังคิดว่าดีอยู่อีก อันนั้นเข้าใจผิดแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่ได้ดี ไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐาน แล้วก็สังเกตจิตใจของเราไปสบายๆ จิตหลงไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ ไม่ได้ทำกรรมฐานด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ เมื่อไรไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นจิตก็ประภัสสร สว่าง ผ่องใส สบาย มีความสุข จิตที่ประภัสสรมันจะมีเวทนา คือความรู้สึกได้ 2 อย่าง คือมีความสุขเรียกว่าโสมนัสเวทนา กับอุเบกขาเวทนา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ ตัวจิตที่ประภัสสรนี้ เรียกภาษาที่ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านเรียก คือจิตผู้รู้ อย่างหลวงตามหาบัวท่านบอก ตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะคือจิตประภัสสร แต่เมื่อกี้หลวงพ่อบอกแล้ว จิตที่ประภัสสรผ่องใสเฉยๆ แต่ไม่บริสุทธิ์ คนละเรื่องกัน

Page 1 of 3
1 2 3