จิตที่เปิดรับธรรมะ

เวลาฟังธรรมะ ฟังซื่อๆ ไม่ต้องตีความมาก ฟังไปคิดไปมันก็เรียนปริยัติล่ะถ้าอย่างนั้น เราจะฟังธรรมะได้แล้วรู้เรื่องดี ถ้าจิตของเราเป็นกุศล มหากุศลจิต ลหุตา เบา มุทุตา นุ่มนวล ปาคุญญตา คล่องแคล่วว่องไว ไม่เซื่องซึม กัมมัญญตา ควรแก่การงาน ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน อุชุกตา รู้ซื่อๆ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้ ใจอย่างนี้รับธรรมะง่าย ฉะนั้นเราปรับจิตใจของเรา ให้มันเป็นกุศลไว้ก่อน แล้วฟังธรรม เราจะได้ประโยชน์มาก ถ้าฟังไป แล้วก็ใจก็หนักๆ แน่นๆ เพ่งเอาไว้มากๆ บางคนเพ่ง เพ่งจนเครียด ฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง จิตใจเหมือนกับครกหินทั้งลูก เอาน้ำสาดลงไป ไม่ซึมสักนิดเดียวเลย ใจกระด้าง กูก็แน่ กูก็หนึ่ง พวกนี้ก็รับธรรมะไม่ได้ พวกหัวดื้อหัวรั้น เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ฉะนั้นเราสังเกตจิตใจเรา ให้จิตใจเราเป็นกุศลที่แท้จริง จิตใจที่เป็นกุศล เป็นจิตใจที่ฉลาด มันพร้อมที่จะรับธรรมะ

วิธีเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง

วิธีที่เราจะเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง ก็คือการเห็นความจริงของกายของใจ ไม่ใช่เข้าถึงความสงบด้วยการเข้าฌาน เข้าฌานเก่งแค่ไหนก็ตาม ถึงจุดหนึ่งจิตก็ต้องออกจากสมาธิมา มากระทบอารมณ์ข้างนอกอีก ตอนที่อยู่ในฌานก็มีความสุขดี พอออกมาแล้วกิเลสก็เหมือนเดิม เหตุที่แท้จริงก็คือเราไม่ยอมรับ จิตมันไม่ยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันล้วนแต่ของไม่เที่ยง ล้วนแต่ของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ ล้วนแต่เป็นของที่บังคับควบคุมไม่ได้ ถ้าเมื่อไรเราสามารถยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันอยู่นอกเหนืออำนาจบังคับบัญชา ยอมรับความจริงตัวนี้ได้ จิตจะหมดความอยากสิ้นเชิง เมื่อจิตหมดความอยากหรือหมดตัณหา จิตจะหมดความดิ้นรน เมื่อจิตหมดความดิ้นรน จิตก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงสันติ ความสงบที่แท้จริง สันติตัวนี้ก็คือนิพพาน

สติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

กระบวนการทั้งหมดเบื้องต้นต้องตั้งใจฝึก เบื้องปลายทุกอย่างจะอัตโนมัติ เบื้องต้นเราฝึกสติ เราก็ตั้งใจฝึกไป มีกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปแล้วจิตหนีไป เรารู้ ไปเพ่งอะไร เรารู้ รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดี หรือดูตรงนี้ไม่ออก ก็เห็นร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้อะไรอย่างนี้ สติมันก็จะดีขึ้นๆ สติปัฏฐานทำให้สติเกิดในเบื้องต้น ทำให้ปัญญาเกิดในเบื้องปลาย ฉะนั้นเราทำสติปัฏฐาน รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปไม่เจตนาจะรู้มันรู้ได้เอง ตรงนี้อัตโนมัติแล้ว