ธัมมวิจยะ

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ มันคือเหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้วอยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา
นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา

นิวรณ์ 5

ถ้าเราพยายามอดทนฝึกให้จิตเรามีสมาธิ ทำกรรมฐานไป รู้จักเลือกอารมณ์ที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข อารมณ์นั้นไม่ยั่วให้เกิดกิเลส ทีแรกมันก็ฟุ้งซ่าน แล้วทำทุกวันๆ ต่อไปมันก็สงบลงมา เวลามันสงบมันก็ข่มนิวรณ์ได้ เวลาจิตไม่มีกำลังไม่สงบ ก็ถูกนิวรณ์เข้ามาข่มจิต ก็ยิ่งฟุ้งซ่านมากกว่าเก่าอีก เพราะฉะนั้นต้องอดทน ในช่วงแรกๆ ของการปฏิบัติ ตั้งใจรักษาศีลไว้แล้วก็อดทน เราจะต้องต่อสู้กับนิวรณ์ 5 ตัว นิวรณ์โดยตัวศัพท์ของมัน ก็หมายถึงสิ่งซึ่งคอยมาขัดขวาง การทำคุณงามความดีทั้งหลาย นั่นละเรียกว่านิวรณ์ ฉะนั้นเวลามีสิ่งมาขัดขวางคุณงามความดีในใจเรา ก็เรียกว่ามีนิวรณ์เกิดขึ้นแล้ว ทีแรกเราก็ยังมีนิวรณ์ทุกคน ก็ต้องอดทนภาวนาทำไปเรื่อยๆ มันคงไม่ชั่วตลอดชาติหรอก