รู้แจ้งในกองทุกข์จึงสิ้นตัณหา

ขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่ใช่แค่ว่าไม่ใช่ตัวเรา เอาเข้าจริงๆ มันคือตัวทุกข์ มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันทุกข์เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อันนี้เรียกว่าทุกขสัจ ทุกขสัจจะ เรียกว่าเห็นทุกขสัจ เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้งก็คือพระอรหันต์ เพราะทันทีที่เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละอัตโนมัติเลย สัจจะอันที่สองคือสมุทัยดับทันที สัจจะอันที่สามคือนิโรธ คือนิพพาน ปรากฏขึ้นทันที ทันทีที่จิตสิ้นตัณหา จิตสิ้นตัณหาเพราะจิตรู้แจ้งในกองทุกข์ พอรู้แจ้งในกองทุกข์ก็สิ้นตัณหา พอสิ้นตัณหาก็สัมผัสพระนิพพานเลย พระนิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา และขณะนั้นคือขณะแห่งอริยมรรค

รู้ทันความปรุงแต่งจนหลุดพ้น

หลวงพ่อนั่งดูพวกเรา แต่ละคนก็พยายามภาวนา อยากภาวนากัน ป …

Read more

คอยรู้ทันความปรุงแต่ง

จุดสำคัญ เราจะต้องคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันไม่ยากหรอก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ส่วนใหญ่พอมีความสุขมันก็เผลอเพลิน มีความทุกข์ก็มัวแต่เศร้าโศก หดหู่ ท้อแท้ แทนที่มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นว่าความสุขเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหดหู่ท้อแท้ ก็เห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนกันหมด จะสุขหรือจะทุกข์ก็คือมาแล้วก็ไป กุศลหรืออกุศลก็เหมือนกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง แล้วจิตเรามันจะยึดถือ ยึดถือจิตขึ้นมา ถ้ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น เรามีสติมีปัญญา จิตไม่เข้าไปยึดถือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่เข้าไปยึดถือจิต

ธัมมวิจยะ

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ มันคือเหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้วอยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา
นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา

ลงมือปฏิบัติจนเห็นของจริง

หัดดูในขันธ์ 5 ดูไปเรื่อย ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งคิดเอา นั่งคิดเอาว่าร่างกายไม่ใช่เรา คิดเอาแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจว่ากูรู้ธรรมะ มันรู้ด้วยการคิด มันยังไม่ได้เห็นของจริง ต้องลงมือปฏิบัติไปจนเห็นของจริง ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นด้วยจิตใจที่แท้จริง มันจะไม่กลับมาหลงผิดอีก อย่างคนไหนเป็นพระโสดาบันแล้ว รู้ความจริงแล้ว ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ไม่มี พระโสดาบันภาวนาไปจนจิตเห็นความจริงอันนี้แล้ว ความรู้อันนี้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจ ตายไปแล้วข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ความรู้อันนี้ก็ไม่หายไป มันฝังลงไปในจิตใจ แต่ถ้าเป็นความรู้จากการคิด การอ่าน การฟัง ไม่ทันจะแก่ก็ลืมหมดแล้ว

ละความเห็นผิดแล้วจึงละความยึดถือ

จุดแรกก็คือละความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ ถัดจากนั้นก็ฝึกปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดความยึดถือในตัวในตน ทีแรกละความเห็นผิด ต่อไปก็ละความยึดถือได้ คนละชั้นกัน ละความเห็นผิดได้ก็เป็นพระโสดาบัน ละความยึดถือในกายได้ก็เป็นพระอนาคามี ละความยึดถือในจิตได้ก็เป็นพระอรหันต์ ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น หมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือจิต เพราะเห็นแจ้งแล้ว กายคือตัวทุกข์ จิตคือตัวทุกข์

จิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

เรามีสติเห็นตัวสภาวะ เห็นจิต แต่เราไม่มีปัญญา ที่จะแยกว่าจิตที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว สันตติขาด เราก็จะรู้ว่าจริงๆ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราจะเห็นมันเกิดดับๆๆ สืบเนื่องกัน ตัวนี้เรียกว่าเห็นอนิจจังของจิต แล้วมันก็ทำลายภาพลวงตา ที่เดิมเราคิดว่า โอ๊ย จิตมีดวงเดียว จิตคือตัวเราวิ่งไปวิ่งมา ออกไปเสพอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คราวนี้พอมันขาดออกเป็นตัวๆ ไป เป็นดวงๆ ไป เราจะพบว่ามันไม่ใช่ตัวเรา มันมีแต่ของที่เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เป็นอมตะ ถาวร ตรงนี้เป็นปัญญาชั้นละเอียดของเราชาวพุทธ

อย่าเป็นเด็กอ่อนตลอดกาล

พวกเราต้องไปทำเอาเอง ต่อไปหลวงพ่อคงจะไม่จ้ำจี้จำไชพวกเรามากเกินไปแล้ว ที่ผ่านมาหลวงพ่ออยากให้พวกเราภาวนาเก่ง ภาวนาดี ไม่เถลไถล หลวงพ่อเข้าไปควบคุมเยอะ เมื่อคืนวันพฤหัสนั่งสมาธิอยู่ ก็ได้ยินเสียงครูบาอาจารย์ ท่านบอกให้หลวงพ่ออุเบกขาได้แล้ว กรรมใคร กรรมมัน ถ้าหลวงพ่อไปจู้จี้กับพวกเรา อยากให้พวกเราดี อยากให้ได้ธรรมะอะไรอย่างนี้ จู้จี้มากไป บางคนเข้าใจก็ดี บางคนไม่เข้าใจ โกรธ บาปกรรมเปล่าๆ ท่านว่าอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ดูแลตัวเองให้ดีหน่อย คนไหนใจเปิดรับธรรมะ ก็ไม่ยากอะไรหรอก ถ้าใจไม่รับก็ปล่อยแล้วนะ ปล่อยแล้ว แบกพวกเราไม่ไหวแล้ว ชรามากแล้ว ถ้าเป็นฆราวาสนี้เกษียณไปนานแล้ว ช่วยตัวเองให้ได้ เดินด้วยตัวเองให้ได้ อย่าเป็นเด็กอ่อนตลอดกาล ยังเดินไม่ได้ ยังยืนไม่ได้ คลาน คลานไป แล้ววันหนึ่งต้องยืนขึ้นให้ได้ ยืนแล้วต้องเดินให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ครูบาอาจารย์ คอยประคับประคองอีกต่อไป ต้องช่วยตัวเองให้ได้

บทเรียนชื่อจิตตสิกขา

ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง เรียกว่าจิตตสิกขา บทเรียนชื่อจิตตสิกขาจะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า จิตตสิกขา ก็ไปนั่งสมาธิแล้วก็เพ่งๆๆ เคลิ้มๆ ลงไป บอกนี่คือจิตตสิกขา ไม่เห็นได้เรียนรู้เรื่องจิตเลย มีแต่การน้อมจิตให้เซื่องซึมไป หรือเคร่งเครียดไป

ฉะนั้นให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปสบายๆ แล้วถ้าจิตมันไหลไปคิด รู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันไป ตรงที่เรารู้ทันความเคลื่อนไป ความหลงไป สติจะเกิด สติตัวนี้เป็นสัมมาสติ มันรู้เท่าทันจิตตนเอง

สติปัฏฐาน

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการที่เรามีความเพียร คอยระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ ระลึกรู้จิตที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ระลึกรู้สภาวธรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง เป็นนามธรรมบ้าง แล้วก็สูงสุดเลย ก็คือเรียนรู้กระบวนการของจิต ที่สร้างความทุกข์ขึ้นมาแผดเผาตัวเอง อันนั้นก็คืออริยสัจ หรือปฏิจจสมุปบาท

Page 1 of 3
1 2 3