กรรมใหม่เป็นตัวชี้ขาด

ตัวชี้ขาดของเราที่ต้องพัฒนาให้ดีเลยคือกรรมใหม่ กรรมเก่ามันแก้อะไรไม่ได้แล้ว มันทำไปแล้ว จบไปแล้ว ถ้ามีกรรมเก่าที่ดีก็รับผลดีไป กรรมเก่าไม่ดีก็รับผลไม่ดีไป ถึงเราได้รับผลที่ไม่ดี บางคนรูปร่างดูไม่ได้เลย แต่ทำไมคนรักใคร่ คนชอบที่จะอยู่ใกล้ๆ ครูบาอาจารย์บางองค์รูปร่างท่านไม่งาม กิริยาท่าทางก็ไม่งาม แต่ทำไมคนอยากอยู่ใกล้ๆ เทวดาก็อยากอยู่ใกล้ๆ เพราะจิตใจท่านงาม ที่จิตใจท่านงามได้ เพราะกรรมใหม่ท่านดี ตั้งอกตั้งใจทำทาน รักษาศีล ภาวนา ทำทุกวันๆ เพราะฉะนั้นระหว่างกรรมใหม่กับกรรมเก่า กรรมใหม่สำคัญที่สุด มันอยู่ในปัจจุบัน กรรมเก่าทำไปแล้ว มันแก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยมันไป เพียงแต่ว่าเราอย่าไปทำกรรมชั่ว ซ้ำขึ้นในปัจจุบันนี้เท่านั้นล่ะ แล้วพยายามรักษาศีลของเราไว้ให้ดี เจริญสมาธิ ฝึกของเราทุกวัน บางคนไม่เคยฝึกมาก่อน สงบยาก สงบยากก็ช่างมัน ก็ฝึกทุกวัน

ธัมมวิจยะ

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ มันคือเหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้วอยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา
นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา

แสวงหาธรรมะ

ตอนนี้คนจีนมาที่นี่เยอะมาก เขามาไกลจากเมืองจีน ถามว่ามาทำอะไร มาแสวงหาธรรมะ แล้วจะเจอไหม ไม่เจอหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่เมืองไทย ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัดสวนสันติธรรม ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ถ้ามาแสวงหาธรรมะที่หลวงพ่อ ก็ยังแสวงหาออกนอกอยู่ อยากเข้าใจธรรมะจริงๆ ให้ค้นคว้าเข้าไปในกายในใจของตัวเอง อย่าให้เกินร่างกายออกไป เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ เรียนกรรมฐานไม่ใช่เรียนที่อื่น ไม่ใช่มารอรับธรรมะจากหลวงพ่อ ไม่ใช่รอมาวัด ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ธรรมะไม่ได้อยู่กระทั่งกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านจะตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ ธรรมะก็มีอยู่แล้ว ฉะนั้นธรรมะเป็นของประจำโลกอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ที่ใคร อยู่ที่เราจะต้องฝึกจิตใจตัวเองให้เห็นธรรมะ ไม่ใช่ทำให้ธรรมะเกิดขึ้นหรอก ฝึกจนกระทั่งเห็นความจริง สูงสุดนั้นก็คือตัวอริยสัจ 4 ตราบใดที่ไม่รู้อริยสัจ 4 เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดหรอก

หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ

ถ้าเราปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เราจะพัฒนาเร็วมากเลย ถ้าเก่งเฉพาะทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เก่งตอนนั้น อยู่ในชีวิตประจำวันปฏิบัติไม่เป็น อ่านจิตอ่านใจไม่ออก รู้สึกกายไม่เป็นอะไรอย่างนี้ ยังไกล หลวงปู่มั่นท่านสอน หลวงพ่อฟังมาจากหลวงปู่สุวัจน์ ตอนท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนบอกว่า “ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ให้ทำสมถะ ทำสมาธิไป” ทำสมาธิ มันจะได้เกิดกำลัง กลับไปดูจิตได้ ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้ แล้วท่านก็สอน สรุป บอกว่า “หัวใจของการปฏิบัติ ตัวสำคัญที่สุด คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน” นั่งสมาธิเก่ง เดินจงกรมเก่ง แต่เจริญสติในชีวิตประจำวันไม่เป็น กิเลสลากไปกินทั้งวันเลย แล้ววันหนึ่งก่อนนอน 1 ชั่วโมงไปนั่งสมาธิ ก็หลงมา 20 ชั่วโมงแล้ว ไปนั่งสมาธิชั่วโมงหนึ่ง สู้กันไม่ไหว ฉะนั้นเราอย่าละเลยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน