ธรรมะเป็นของตรงไปตรงมา

ท่านสอนง่ายๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ เห็นไหม คำพูดนี้ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีอะไรที่พิสดาร จิตเรามีราคะเราก็รู้ จิตไม่มีราคะเราก็รู้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ ไม่เห็นจะมีอะไรยุ่งยากเลย ของง่ายๆ ธรรมะเป็นของง่ายๆ เรียบง่าย เปิดเผยตรงไปตรงมา กิเลสของเราทำให้เราคิดว่าธรรมะพิสดารผิดธรรมชาติธรรมดา การภาวนาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรเลย ให้จิตใจอยู่ที่ตัวเอง รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ศัตรูมี 2 อัน ไม่หย่อนก็ตึง หย่อนไปนี่ภาษาพระเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ตึงนี่เรียก อัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองให้ลำบาก ทางสายกลางคือรู้อย่างที่กายมันเป็น รู้อย่างที่ใจมันเป็นไป นี่เป็นหลักของการปฏิบัติ

น้ำหนักในใจคือดัชนีชี้วัด

บางคนยังไม่ได้ภาวนาใจสบายเป็นธรรมดา พอจะดูจิตเริ่มจ้องแล้ว เครียดแล้ว จะดูตรงไหนดี ไม่เห็นว่าใจกำลังโลภ ใจกำลังฟุ้งซ่าน สภาวะเกิดแล้วไม่เห็น ใจก็เครียดขึ้นมา หรือบางคนเห็นโทสะ โทสะเกิดขึ้นใจไม่ชอบ ไม่เห็นว่าใจไม่ชอบ มีน้ำหนักเกิดขึ้น ใจเครียด ฉะนั้นน้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจ เป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าเรารู้เป็นธรรมชาติไหม หรือรู้แบบมีตัณหาแทรกเข้ามา ถ้ารู้อย่างเป็นธรรมชาติ จะไม่มีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจ ลองไปดู น้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจเรานี้ก็ไม่คงที่ เดี๋ยวหนักมาก เดี๋ยวหนักน้อย เวลาจิตเราชั่วๆ ก็หนักมาก เวลาจิตเราเป็นกุศลก็หนักน้อยหน่อย เวลาเราอยากดีลงมือปฏิบัติ บังคับกายบังคับใจก็หนักเยอะหน่อย ถ้าเห็นกายเห็นใจมันทำงาน แต่มีความจงใจจะไปเห็นก็หนักน้อยหน่อย มีแต่หนักมากกับหนักน้อยในใจ ตรงนี้จริงๆ ก็แสดงธรรมะ จิตนี้เดี๋ยวก็หนักมาก เดี๋ยวก็หนักน้อย สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ดูอย่างนี้ก็เดินปัญญาได้