จุดตั้งต้นของการปฏิบัติ

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถ้าไม่รู้สึกตัวปฏิบัติไม่ได้จริง ได้อย่างมากก็ได้สมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ เผลอๆ เพลินๆ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวเลยในการที่จะเอาชนะกิเลส มันประหลาด เราทุกคนรักตัวเองที่สุด แต่เราลืมตัวเองบ่อยที่สุด เราสนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจตัวเอง ทั้งๆ ที่รักที่สุด พอเราไม่สนใจตัวเอง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีความรู้สึกตัว เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ ถ้าไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ โอกาสที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจก็ไม่มี ปล่อยไม่ได้ก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะกายกับใจนั้นคือตัวทุกข์

วิธีเจริญสติในชีวิตประจำวัน

ถ้าเราฝึก นอกจากเราจะรู้ทันว่าตอนนี้มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่วแล้ว เรายังได้เห็นพฤติกรรมของจิตด้วย จะเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตก็ใช้ได้จะเห็นพฤติกรรมของจิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 ก็ใช้ได้ เราดูจิต เราจะดูกันอย่างนี้

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

สิ่งแรกที่พระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์ ในพระสูตรพูดไม่กี่ประโยคว่า มีสิ่ง 2 สิ่ง มีธรรม 2 อย่าง ที่บรรพชิตคือผู้ปฏิบัติไม่ควรเสพ คือกามสุขัลลิกานุโยค แล้วก็อัตตกิลมถานุโยค ท่านพูดสั้นๆ พอเราเข้าสู่ทางสายกลางได้แล้ว ทำอย่างไร ท่านก็ให้เรียนรู้ สิ่งที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 เวลาจะปฏิบัติ ท่านสอนสัมมาทิฏฐิ อันนี้สัมมาทิฏฐิภาคปริยัติ เสร็จแล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ ดูแลความคิดของเรา อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ คอยรู้ไปเรื่อยๆ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ก็จะดี

การรู้สึกกายรู้สึกใจ 2 ขั้น

การที่เรารู้สึกกาย รู้สึกจิตมี 2 สเต็ป ขั้นแรก รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจตัวเอง ร่างกายมีอยู่ รู้สึก ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมีอยู่ รู้สึก ถัดจากนั้น ก็รู้ให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ทีแรกเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ ลึกลงอีกชั้นหนึ่ง รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ตรงนี้เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้

การที่หลวงพ่อบอกให้มีสติ คือคอยรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ อันนี้สมถะ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ อันนี้คือวิปัสสนา ทำสมถะก็ต้องมีสติ ทำวิปัสสนาก็ต้องมีสติ ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ หลวงปู่มั่นสอนชัดเจน “มีสติคือมีการปฏิบัติ ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ” ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว เดินจงกรมแล้วก็เครียด ไม่ได้ปฏิบัติ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้นรู้สึกตัวให้เป็นแล้วการปฏิบัติธรรมจะไม่ยากเท่าที่คิดหรอก

บทเรียนชื่อจิตตสิกขา

ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง เรียกว่าจิตตสิกขา บทเรียนชื่อจิตตสิกขาจะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า จิตตสิกขา ก็ไปนั่งสมาธิแล้วก็เพ่งๆๆ เคลิ้มๆ ลงไป บอกนี่คือจิตตสิกขา ไม่เห็นได้เรียนรู้เรื่องจิตเลย มีแต่การน้อมจิตให้เซื่องซึมไป หรือเคร่งเครียดไป

ฉะนั้นให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปสบายๆ แล้วถ้าจิตมันไหลไปคิด รู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันไป ตรงที่เรารู้ทันความเคลื่อนไป ความหลงไป สติจะเกิด สติตัวนี้เป็นสัมมาสติ มันรู้เท่าทันจิตตนเอง

เดินจิตในทางสายกลาง

กิเลสเกิดขึ้นในใจเรา เราต้องไม่ตึงไปแล้วก็ไม่หย่อนไป หย่อนไปคือตามใจกิเลส ตึงไปก็คือพยายามละกิเลส กิเลสนั้นไม่ต้องละ กิเลสอยู่ในสังขารขันธ์อยู่ในกองทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ไม่ใช่การละ ฉะนั้นจิตมีราคะขึ้นมา ท่านถึงบอกว่า จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ ท่านไม่ได้สอนว่าจิตมีราคะให้ละเสีย ท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น ถ้าให้ละเสียตึงไป เครียด แต่ท่านให้รู้ แล้วก็ไม่ได้ให้ตามใจ ถ้าตามใจก็คือหย่อนไป ถ้าพยายามไปดับกิเลส ไปละกิเลส อันนี้ตึงไป ถ้ากิเลสเกิดรู้ว่ากิเลสเกิด เห็นว่ากิเลสกับจิตมันก็คนละอันกัน เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับไป กิเลสเองก็เกิดดับๆ ได้ นี่ทางสายกลาง ตรงที่เราเห็นกิเลสเกิดขึ้นแล้วมันดับปั๊บไป จิตมีสมาธิ แล้วเราก็เห็นไปเนืองๆ เห็นบ่อยๆ กิเลสเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ต่อไปปัญญามันก็เกิด มันจะรู้ว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิดได้มันก็ดับได้ ไม่ต้องไปดับมันหรอก มันดับของมันเอง เมื่อเหตุของมันหมดมันก็ดับ กิเลสมันเป็นอนัตตา ละมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นกิเลสเกิดท่านถึงไม่ได้บอกให้ละ แต่ท่านให้เห็น ให้รู้มัน ราคะเกิดรู้ว่ามีราคะ โทสะเกิดรู้ว่ามีโทสะ โมหะเกิดรู้ว่ามีโมหะ รู้ไปเรื่อยๆ ถ้าพยายามละ ตึงไป ถ้าตามใจมัน นี่หย่อนไป ถ้าตามใจมันก็จะไปอบาย ถ้าไปต้านมัน ไปต่อต้านมันก็ไม่ทำชั่วอะไร ไปสุคติได้ แต่ไม่ได้ไปมรรคผลนิพพาน ไม่ถึง ไม่เกิดมรรคผล เพราะไม่ใช่ทางสายกลาง

อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด

อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของธรรมะเลย ครอบคลุมธรรมะทั้งหมดเอาไว้ได้ ในเรื่องของอริยสัจ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบ บอกอริยสัจเทียบเหมือนรอยเท้าช้าง ยุคนั้นไม่มีไดโนเสาร์แล้ว ช้างใหญ่ที่สุด ท่านบอกรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย มันไปบรรจุอยู่ในรอยเท้าช้างได้ เล็กกว่ารอยเท้าช้าง ธรรมะทั้งหมดก็ประมวลลงอยู่ในอริยสัจได้ เจ้าชายสิทธัตถะท่านสาวลงมาจนถึงอวิชชา ความไม่รู้แจ้งอริยสัจ ท่านก็รู้เลย โอ้ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจเสียตัวเดียว สังสารวัฏก็ถล่มลงต่อหน้าต่อตาเลย ความเวียนว่ายตายเกิดไม่มีอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านค้นพบในตอนใกล้ๆ สว่างแล้ว ท่านค้นพบแล้วท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะขึ้นมา