ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิด

จุดอ่อนของปัญญาชน ก็คือคิดมาก หลายคนหลวงพ่อสอนให้รู้สึกตัว ให้ดูกายดูใจ เขาบอกเขายังดูไม่ได้ ต้องคิดไว้ก่อน เออ ก็คิดไป ชาตินี้คิด ชาติหน้าก็ไปคิดต่อ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนด้วยการรู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจ ดูกายหายใจออก หายใจเข้า ก็เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่เราหายใจออก ไม่ใช่เราหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน

เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องลึกลับ มันเป็นการเปลี่ยนจุดที่มอง แทนที่จะมองออกไปข้างนอก ก็มองย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้แล้วมันจะไปได้อย่างรวดเร็ว พอเราเรียนรู้ลงที่จิตใจบ่อยๆ เราจะเริ่มเห็นความจริง จิตใจนี้มันเป็นไตรลักษณ์ จิตใจมันเป็นไตรลักษณ์ เวลามันมีความสุข มันมีความทุกข์ หรือมันเป็นกุศล หรือมันโลภ โกรธ หลงก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ชั่วคราว ความสุข จิตใจมีความสุข ก็สุขชั่วคราว จิตใจมีความทุกข์ ก็ทุกข์ชั่วคราว จิตใจเป็นกุศล ก็เป็นกุศลชั่วคราว จิตใจโลภ โกรธ หลง ก็โลภ โกรธ หลงชั่วคราว เราเห็น อย่างนี้เรียกว่าเห็นอนิจจัง

รู้ว่ากายใจเป็นทุกข์จึงหมดความยึดมั่น

ถ้ามีสติอยู่กับร่างกาย รู้สึกไป ไม่นานเราก็จะเห็นความทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ มีสติรู้สึกจิตไปเรื่อยๆ ไม่นานเราก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น เรายึดกายมากเพราะเราเห็นว่ากายเป็นตัวสุข เป็นตัวดี พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ความรักใคร่หวงแหนในร่างกาย ก็จะลดลงจนกระทั่งวันหนึ่งมันไม่ยึดถือในร่างกาย ต่อไปก็ดูจิตใจไป เห็นจิตใจเป็นตัวทุกข์ เรียกรู้ทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนในจิตใจ ก็วางตรงที่วางนั่นล่ะคือตัวนิโรธ ปล่อยวางได้

เมื่อไรเห็นทุกข์จะวางทุกข์

ถ้าเห็นว่ากามนำความทุกข์มาให้ มันก็วางกาม เห็นกายคือตัวทุกข์ มันก็วางกาย วางกามมันก็วางกายนั่นล่ะ แล้วสุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิต วางจิตได้มันก็ที่สุดของการปฏิบัติ มันก็อยู่ตรงนั้นล่ะ แต่วางจิตได้ก็คือเห็นจิตนั้นคือตัวทุกข์ ฉะนั้นไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรมหรอก

ถ้าเห็นทุกข์ พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่เราเห็นทุกข์แล้ว ไม่เกิดขึ้น อย่างเราเห็นว่ากายเป็นทุกข์อย่างแท้จริง ความอยากให้กายเป็นสุข ไม่เกิดขึ้น ความอยากให้กายไม่ทุกข์ ไม่เกิดขึ้น มันรู้ว่าไร้เดียงสา อยากให้กายมีความสุข มันมีไปได้อย่างไร เพราะมันคือตัวทุกข์ ดูไปเรื่อย อยากให้กายไม่ทุกข์ อันนี้ก็ไร้เดียงสา อยากให้กายสุขก็ไร้เดียงสา อยากให้กายไม่ทุกข์ก็ไร้เดียงสา เพราะจริงๆ มันคือตัวทุกข์ เห็นไหมว่า ถ้าเราเห็นตัวทุกข์ทีเดียว มันตอบโจทย์หมดแล้ว รู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น

รู้สึกตัวเองมีโมหะและโทสะมาก มีความตึงเครียดกับปัญหาทางโลก จนทำให้มึนและหนักศีรษะอยู่บ่อยๆ

คำถาม: ปัจจุบันปฏิบัติในรูปแบบช่วงก่อนนอนและระหว่างวัน …

Read more

เห็นจิตตัวผู้รู้ดูกายอยู่ รู้สึกตัวบ่อยมาก แต่ไม่ค่อยเห็นอารมณ์ที่มากระทบเหมือนกับรู้สึกทรงตัวอยู่เฉยๆ

คำถาม: ตอนบวช หลวงพ่อเคยบอกว่าให้ดูกายเป็นฐานไปเรื่อยๆ …

Read more

GPS เส้นทางการปฏิบัติ

หลวงพ่อจะต่างกับครูบาอาจารย์ทั่วไป ส่วนใหญ่ท่านจะสอนให้เดินทีละก้าว เอ้า ไปพุทโธ พอสัก 3 ปีก็ค่อยมาว่ากันต่อ ซึ่งคนรุ่นนี้มันทำไม่ได้ ที่หลวงพ่อสอนมันเลยเป็นภาพทั้งกระดานเลย เหมือนเราดู GPS เราไม่ได้ดูเฉพาะหน้านี้ใช่ไหม เริ่มต้นเราก็ดูภาพรวมก่อน จากกรุงเทพฯ จะไปเชียงใหม่ มันจะไปทางทิศทางไหน มันจะเห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด ฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อจะสอนในระบบ GPS เห็นภาพกว้างๆ ก่อน แล้วก็มาลงรายละเอียดเป็นช็อตๆ ไป

ถนัดอะไรก็เอาอันนั้นก่อน

การปฏิบัติ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอก สายไหนดีกว่าสายไหน ถ้าถูกหลักแล้วก็ดีหมด ถ้าผิดหลักก็ไม่ดีหรอก ไม่ว่าเริ่มต้น เราจะดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิต สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตทั้งหมด ลงที่เดียวกันหมด ไม่ต้องเถียงกัน เพียงแต่บางคนลัดเข้ามาที่จิตเลย บางคนอ้อมไปทางกายก่อน ไปทางเวทนาก่อน ฉะนั้นเราจะเริ่มอย่างไรก็ได้ สุดท้ายก็ไปที่เดียวกัน ถ้าเราถนัดมาทางกาย เราก็เห็นกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางเวทนา เราก็เห็นเวทนาเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางจิตตานุปัสสนา เราก็เห็นกุศล อกุศลทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ แล้วสุดท้ายมันก็เข้าไปที่ธัมมานุปัสสนา ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งนั้น

ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

Page 1 of 2
1 2