กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

พระพุทธเจ้าให้รู้ทุกข์

คำสอนของพระพุทธเจ้าจะอยู่ในกฎของคำว่า ให้รู้ทุกข์ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้ไปเรื่อยๆ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน คอยรู้สึกตัวไว้ ร่างกายที่ทำไมต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจเข้า ต้องหายใจออก ทำไมมันต้องกินข้าว ทำไมมันต้องขับถ่าย ทำไมมันต้องดื่มน้ำ ทำไมต้องปัสสาวะ เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์ ไม่ใช่ของวิเศษหรอก เราอาศัยมันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยึดถือ เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจ

วิธีทดสอบเมื่อคิดว่าได้มรรคผล

ถ้ารู้ทันกิเลสตัวเอง เวลาที่คิดว่าบรรลุมรรคผลอะไร ก็คอยสังเกตกิเลสตัวเองไป กิเลสอะไรยังไม่ละ กิเลสอะไรละแล้ว ละชั่วคราวหรือละถาวร สังเกตเอา ไม่ต้องเที่ยวถามคนโน้นคนนี้ เชื่อถือไม่ได้หรอก
มีจำนวนมากเลยที่ไปเรียนที่โน้นที่นี้ที่โน่น ไปเรียนมาจากที่ต่างๆ แต่ละที่เขารับรองได้โสดาบัน ได้สกทาคามี ได้อนาคามี เขารับรองให้ ไปเรียนอยู่ที่อื่น เขารับรองแล้วมาถามหลวงพ่ออีก จะให้หลวงพ่อรับรอง เรารับรองให้ไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ แต่หลวงพ่อจะสอนให้ ไปสังเกตกิเลสตัวเองเอา กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ ที่ละนั้นละเด็ดขาดหรือว่าละชั่วครั้งชั่วคราว กิเลสไม่ใช่ของเกิดตลอดเวลา มันเกิดเป็นคราวๆ กระทั่งสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน ก็เกิดเป็นคราวๆ ฉะนั้นไม่ใช่นึกๆ เอาว่า เอ๊ะ ตอนนี้ไม่มี ตอนนี้ไม่มีประเดี๋ยวมันมีก็ได้ ฉะนั้นหัดสังเกตกิเลสตัวเองไว้ให้ดีเถอะ หลวงพ่อไม่ได้พยากรณ์ให้ใครหรอก แต่จะชี้ให้ดู ชวนให้ดูกิเลสของตัวเอง

รูปนามคือตัวทุกข์

แต่เดิมหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็คิดว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเราไม่ไปยึดไปถือ เราก็ไม่ทุกข์ด้วย มันทุกข์เพราะเราไปยึดขันธ์ 5 ถ้าเราไม่ยึดขันธ์ 5 เราก็ไม่ทุกข์ พอภาวนาละเอียดขึ้นไปพบว่าไม่ใช่ ที่คิดว่าใช่มันไม่ใช่เสียแล้ว เดิมคิดว่าขันธ์ 5 มันเป็นตัวกลางๆ แต่พอจิตเราเข้าไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตเลยทุกข์ พอภาวนาไปเรื่อยๆ ก็เห็นความจริง รูปนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ทุกข์โดยตัวของมันเอง เราจะเข้าไปยึดถือหรือไม่ยึดถือ รูปก็คือตัวทุกข์ นามธรรมก็คือจิตเรานี้ เราจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ จิตนั้นก็คือตัวทุกข์ พอรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปคือตัวทุกข์ จิตถึงจะปล่อยวางรูป เรียกรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ละสมุทัยได้

ความว่างของธาตุทั้ง 6

เวลาเราจะภาวนา เราก็นั่งปรุงแต่งไป ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เวลาภาวนาจะอยากปฏิบัติก็จะไปสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา ภพก็คือความปรุงแต่ง ไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ ทื่อๆ อะไร หรือบังคับกาย บังคับใจ นั่นคือความปรุงแต่งทั้งหมดเลย ถ้าตราบใดที่เรายังหลงอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง เราจะไม่เห็นความว่างของธาตุทั้ง 6 จะไม่เห็นความว่างของร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ในช่องว่าง คืออากาศธาตุ เราจะไม่เห็นว่าจิตใจมันก็เป็นธาตุ เป็นธาตุรู้ เพราะความปรุงแต่งนั้นเป็นเครื่องพะรุงพะรังออกมาปิดบังความว่างเอาไว้ อย่างอากาศ จักรวาลนี้มันว่าง เมฆมันลอยมา เราก็รู้สึกฟ้ามันมืด วันนี้ฟ้ามันทึบ ฟ้าไม่ได้มืด ฟ้าไม่ได้ทึบ ฟ้าก็เป็นอย่างนั้นล่ะ แต่เมฆมันมาบัง จิตนี้ก็เหมือนกัน โดยตัวมันมันว่างอยู่แล้ว แต่เมฆหมอก คือความคิดนึกปรุงแต่งเข้ามาบดบังญาณทัสสนะของเราเลยเห็นผิดไป เห็นผิด ความปรุงแต่งก็เลยปิดบังความว่างเอาไว้

บุพพภาคมรรค

ต้องเจริญสติ เจริญปัญญาให้มาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้มาก ทำให้เจริญขึ้น ก็คือการปฏิบัติตามองค์มรรคนั่นล่ะ เมื่อปฏิบัติมากเข้าๆ ต่อไปเราก็รู้ทุกข์ การที่เราคอยรักษาศีลไว้เป็นพื้นฐาน
ฝึกจิตให้ตั้งมั่น ให้จิตมีกำลัง จิตมีกำลัง จิตต้องสงบแล้วก็ตั้งมั่น แล้วก็เจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องอื่น เราเจริญอยู่ในแนวทางของมรรค ตรงนี้ไม่ใช่อริยมรรค การที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่ใช่อริยมรรค เรียกบุพพภาคมรรค คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค เป็นจุดตั้งต้นของอริยมรรค ฉะนั้นเราก็พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาไป ปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของตัวทุกข์ เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิต ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะเห็นความจริงของกายของจิต

อาสวะที่พระอรหันต์ละได้เด็ดขาด

ถ้าจิตมันพ้นจริงๆ จิตมันวางขันธ์ได้ มันเห็นความจริง ขันธ์ทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็จิต ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันวาง จิตมันจะมีอาการชนิดหนึ่งขึ้นมา ถัดจากนั้นจิตมันจะพรากจากขันธ์
แยกออกจากขันธ์เลย ไม่เข้าไปคลุกในขันธ์อีกแล้ว ที่จิตมันไม่เข้าไปคลุกในขันธ์แล้ว เพราะว่ามันสิ้นอาสวะแล้ว อาสวะ 4 ตัวนี้พระอรหันต์ละได้เด็ดขาด กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ คือละในเรื่องความคิดความเห็นผิดๆ อย่าว่าแต่ความเห็นผิด กระทั่งความเห็นถูกยังไม่ยึดเลย แล้วก็อวิชชาสวะ อวิชชาสวะนี้เป็นตัวหัวโจกของอาสวะเลย ถ้าล้างตัวนี้ได้อวิชชาก็จะไม่เกิด อวิชชาคือความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4

วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ

ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

หัดอ่านใจตัวเองไป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อประโยคเดียว หลวงพ่อไปบอกท่านว่า “หลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่สอนง่ายๆ “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” อ่านจิตตนเอง จิตเป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ แล้วต่อไปองค์มรรคที่เหลือ จะสมบูรณ์ขึ้นอัตโนมัติ นี่คือใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ถ้าเราปฏิบัติได้ สิ่งที่เราจะได้คือเราพ้นทุกข์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอตายแล้วพ้นทุกข์หรอก พ้นเดี๋ยวนี้เลย

สัมมาวายามะ

เราทำต้นทางนี้ให้ดี มีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ กุศลเกิดก็รู้ อกุศลเกิดก็รู้ไป ไม่ต้องคาดหวังอะไรหรอก แล้วมันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ เพราะสติเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ มีความเพียรชอบ ทำให้มากเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์

ฉะนั้นคอยดูจิตดูใจตัวเองที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศลไว้ให้มากๆ สติก็จะดี สมาธิก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วต่อไปพอสมาธิเกิดแล้ว จะเห็นไตรลักษณ์ ลำพังสติไม่มีสมาธิหนุนหลังอยู่ ไม่มีสัมมาสมาธิหนุนหลัง ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกกาย เห็นอะไร เห็นกาย สติระลึกรู้เวทนา เห็นอะไร ก็เห็นเวทนา สติระลึกรู้กุศลอกุศล เห็นอะไร เห็นกุศล อกุศล แต่ถ้าจิตมีสัมมาสมาธิตั้งมั่น มันจะเห็นเลยว่ากายที่สติระลึกรู้ ไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา เวทนาที่สติระลึกรู้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลที่จิตระลึกรู้ คือสังขารทั้งหลายไม่ใช่เราๆ ค่อยดูไป พอปัญญามันแก่รอบแล้วต่อไปวิมุตติมันก็เกิดเอง

Page 1 of 3
1 2 3