จิตไม่ใช่เรา

จิตมันทำงานได้เอง เวลาจะสุขเราสั่งไม่ได้ เวลาจะทุกข์เราห้ามไม่ได้ เวลาจะดีเราก็สั่งให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วรักษาให้ตลอดไปก็ไม่ได้ เวลาจะชั่วห้ามมันก็ไม่ได้ ไล่มันก็ไม่ไป แล้วจิตเองเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง หลงทางทวารทั้ง 6 เห็นไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็แทงตลอด จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตเป็นแค่สภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 เป็นผลผลิตของจิต มันก็ไม่ใช่เรา โลกซึ่งมันปรากฏขึ้นมาได้ก็เพราะเรามีจิต มันก็เลยพลอยไม่ใช่เราไปด้วย

รู้โลกแจ่มแจ้งจิตก็วางโลก

โลกข้างนอกมันก็ทุกข์อย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อมๆ โลกภายในก็เจริญแล้วเสื่อมเหมือนกัน สุดท้ายจะเห็นความจริง ภายนอกหรือภายในมันก็อันเดียวกัน ก็โลกเหมือนกัน พอรู้โลกแจ่มแจ้งจิตก็วางโลก ไม่มีอะไรโลกนี้ จะโลกภายในก็คือกายนี้ใจนี้ หรือโลกภายนอกกายคนอื่นใจคนอื่น หรือสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวง มันก็เป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่ของเรา เกิดแล้วก็ดับไป มีแล้วก็หายไป แล้วใจเข้าใจโลก ใจก็อยู่เหนือโลก

เรียนรู้ความจริงของโลก

เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป วันหนึ่งก็จะรู้ว่า ในโลกนี้อะไรมีคุณค่าบ้าง ในโลกมีแต่ของชั่วคราว สิ่งที่มีคุณค่าคือธรรมะ แล้วยิ่งเราเข้าใกล้ธรรมะเท่าไร จิตใจเรายิ่งเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่เป็นทาส
อยู่กับโลกเป็นทาสมันหนักขึ้นทุกที เป็นทาสของเงินทอง ของทรัพย์สิน เป็นทาสของครอบครัว เป็นทาสของหน้าที่การงาน เป็นทาสของชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นทาสของความโลภต่างๆ เป็นทาสของกาม หิวตลอดเวลา เราเข้าใจความจริง ร่างกายนี้หาสาระไม่ได้ การที่จะเอาตัวเองให้เป็นทาสมันจะลดลง

อยู่ให้เป็นแล้วเย็นสบาย

เราหัดภาวนาไปเรื่อยๆ ถ้าเราเข้าใจธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อมในทุกด้าน สุขได้ก็ทุกข์ได้ ดีได้ก็ชั่วได้ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ นี้คือธรรมะประจำโลก คือธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ ถ้าใจยอมรับว่าโลกต้องเป็นอย่างนี้ ตัณหามันจะไม่เกิด แล้วยิ่งถ้าเราภาวนาได้ประณีตลึกซึ้ง เรารู้ว่ารูปนามกายใจของเรานี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมดความยึดถือในรูปนามกายใจ คราวนี้เราจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

ความจริงทางโลกกับความจริงทางธรรม

โลกก็สอนธรรมะเราสอนให้เราเห็น โลกนี้ไม่สมบูรณ์หรอกมีทุกข์ตลอดเวลา เราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รักที่ไม่พอใจ ร่างกายเราเองก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จิตใจเราเองเที่ยวหาความสุขมา ความสุขก็ไม่ยั่งยืน เกลียดความทุกข์ไล่มันก็ไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจความจริงในโลกุตตระ เรามีความสุขที่ไม่อิงอาศัยคนอื่น ไม่อิงอาศัยสิ่งอื่น ความสุขตัวนี้ยั่งยืน ในขณะที่ความสุขในโลกนั้นไม่ยั่งยืน ฉะนั้นเราทิ้งของซึ่งไม่สำคัญ แค่อาศัยอยู่ พออยู่พอกิน พอเลี้ยงชีวิต ไม่มีภาระกับสังคมกับอะไรอย่างนี้ แค่นี้พอใจอยู่ได้แล้ว