เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์จึงปล่อยวางจิต

เราจะปล่อยวางจิตได้ ก็ต้องเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเราไม่ได้เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ มันไม่วางหรอก มันเหมือนที่เราปล่อยวางกาย เราเห็นกายมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็วาง จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็ไม่วาง ถ้าเราเห็นแล้วมันถึงจะวาง เพราะฉะนั้นอย่างที่เรามาหัดดูจิตๆ เราก็จะมาเห็น จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่วเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปฟังเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดมกลิ่น จิตที่ไปลิ้มรส จิตที่ไปรู้สัมผัสทางกาย เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปคิดนึกทางใจ เกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันไปคิดนึกทางใจ ก็จะเกิดเป็นจิตสุขบ้าง จิตทุกข์บ้าง จิตดีบ้าง จิตโลภ โกรธ หลงบ้าง แต่จิตทุกชนิดนั้นเกิดแล้วดับ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ถึงจุดหนึ่งมันจะวาง มันจะปล่อยวางจิตได้ ถ้าปล่อยวางจิตได้ มันก็ไม่มีอะไรให้ยึดอีกแล้ว

จิตไม่ใช่เรา

จิตมันทำงานได้เอง เวลาจะสุขเราสั่งไม่ได้ เวลาจะทุกข์เราห้ามไม่ได้ เวลาจะดีเราก็สั่งให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วรักษาให้ตลอดไปก็ไม่ได้ เวลาจะชั่วห้ามมันก็ไม่ได้ ไล่มันก็ไม่ไป แล้วจิตเองเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง หลงทางทวารทั้ง 6 เห็นไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็แทงตลอด จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตเป็นแค่สภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 เป็นผลผลิตของจิต มันก็ไม่ใช่เรา โลกซึ่งมันปรากฏขึ้นมาได้ก็เพราะเรามีจิต มันก็เลยพลอยไม่ใช่เราไปด้วย

อยู่ให้เป็นแล้วเย็นสบาย

เราหัดภาวนาไปเรื่อยๆ ถ้าเราเข้าใจธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อมในทุกด้าน สุขได้ก็ทุกข์ได้ ดีได้ก็ชั่วได้ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ นี้คือธรรมะประจำโลก คือธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ ถ้าใจยอมรับว่าโลกต้องเป็นอย่างนี้ ตัณหามันจะไม่เกิด แล้วยิ่งถ้าเราภาวนาได้ประณีตลึกซึ้ง เรารู้ว่ารูปนามกายใจของเรานี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมดความยึดถือในรูปนามกายใจ คราวนี้เราจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง