รู้ทุกข์ไว้

รู้ทุกข์ไว้ อะไรคือทุกข์ กาย จิตคือทุกข์ รู้อย่างไร รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น คือเป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ รู้จิตอย่างไร รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นไตรลักษณ์ จะรู้กายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ ไม่หลง ไม่ลืมกายลืมใจ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน แล้วก็ไม่บังคับแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต เรียกว่ารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิต แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงให้มันผิดจากความเป็นจริง หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้อย่างไร หัดหมายรู้ ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปความคิดมันก็จะถูก เมื่อความคิดถูก ความเห็นมันก็จะถูก ความเห็นถูกเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นล่ะ เกิดขึ้นเมื่อไร อวิชชาตายไปแล้วเมื่อนั้น พออวิชชาตายไปแล้ว อาสวะก็ย้อมจิตไม่ได้ ชาติภพอะไร มันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นที่จิตได้แล้ว ภพชาติไม่ได้ก่อตัวที่อื่นเลย มันก่อตัวที่จิตนี้ล่ะ เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ภพชาติก็ก่อตัวขึ้นได้ ด้วยกำลังของอาสวะ

จิตใจเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แต่ละวันจิตใจของเราไม่เคยเหมือนกันเลย แล้วเราก็บังคับไม่ได้ เขาสอนธรรมะเรา สอนความไม่เที่ยงให้เราเห็น วันนี้เป็นอย่างนี้ๆ มีแต่ความไม่เที่ยง แล้วก็เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ ค่อยๆ สังเกต แต่ละวันจิตเราไม่เหมือนกัน พอเราดูตรงนี้ออก เราก็มาสังเกตให้ละเอียดขึ้นไป ในวันเดียวกัน แต่ละช่วงเวลา จิตใจเราก็ไม่เหมือนกัน ตอนเช้า จิตใจเราแบบหนึ่ง ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนค่ำ ตอนดึก วันเดียวกันแท้ๆ จิตใจเราก็ไม่ค่อยเหมือนกันแล้ว เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เราสังเกตตัวเอง เริ่มสังเกตหยาบๆ หัดสังเกตว่าแต่ละวันจิตใจเราไม่เหมือนกัน ต่อมาเราก็สังเกตได้ละเอียดขึ้น ในวันเดียวกัน แต่ละช่วงเวลา จิตใจเราไม่เหมือนกัน

เราค่อยๆ ปฏิบัติ ทำสม่ำเสมอไป เราก็เห็นได้ประณีตขึ้น ทีแรกรู้หยาบๆ แต่ละวันจิตเราไม่เหมือนกัน ในวันเดียวกัน เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่เหมือนกัน นึกถึงวันก่อนช่วงเวลาเดียวกัน แต่ละวัน จิตใจก็ไม่เหมือนกัน พอดูได้ละเอียด เราจะเห็นจิตใจเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ในช่วงเวลาเช้าๆ จิตก็เปลี่ยนไปตั้งเยอะตั้งแยะ