รู้ทันความปรุงแต่งจนหลุดพ้น

หลวงพ่อนั่งดูพวกเรา แต่ละคนก็พยายามภาวนา อยากภาวนากัน ป …

Read more

วิธีฝึกให้ได้ตัวรู้

อาศัยสติรู้ทันความปรุงแต่งของใจตัวเอง รู้มันไปเรื่อยๆ สภาวะอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า พอเราลืม หลงไปแล้วก็จังหวะการหายใจเปลี่ยน สติจะเกิดเองเลย จิตจะรู้ตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา หรือจิตใจเรา เราเคยอ่าน มันสุขบ้าง มันทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เรารู้ทันความปรุงแต่งที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอเราหลง จิตมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ดูง่ายกว่าสุข อย่างดูเวทนา ทุกข์มันดูง่ายกว่าสุข เฉยๆ ดูยากที่สุดเลย ฉะนั้นทีแรกเราจะเห็นทุกข์ก่อน พอใจเราทุกข์ขึ้นมา มันแน่นๆ ขึ้นมา ก็มีสติรู้ทัน
เราเคยดูความทุกข์ความสุขของจิตใจชำนาญ พอโกรธปุ๊บ ใจมันมีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็จะเห็น มีสติรู้ทันขึ้นมา ทันทีที่รู้ว่ามีความทุกข์ จิตจะดีดผางขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย ครูบาอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ให้ดูหลง เพราะหลงนั้นเกิดบ่อยที่สุด ค่อยๆ ฝึก เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดรู้ทัน ฝึกเรื่อยๆ จิตถลำลงไปเพ่งไปจ้องภายใน อารมณ์กรรมฐานบ้าง อะไรที่แปลกปลอมไหวๆ ขึ้นข้างในบ้าง จิตไหลไปเพ่งไปจ้อง รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา รู้ทันหลงแล้ว จิตจะดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอมีจิตเป็นผู้รู้ คราวนี้การภาวนาจะง่ายแล้ว

คอยรู้ทันความปรุงแต่ง

จุดสำคัญ เราจะต้องคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันไม่ยากหรอก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ส่วนใหญ่พอมีความสุขมันก็เผลอเพลิน มีความทุกข์ก็มัวแต่เศร้าโศก หดหู่ ท้อแท้ แทนที่มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นว่าความสุขเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหดหู่ท้อแท้ ก็เห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนกันหมด จะสุขหรือจะทุกข์ก็คือมาแล้วก็ไป กุศลหรืออกุศลก็เหมือนกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง แล้วจิตเรามันจะยึดถือ ยึดถือจิตขึ้นมา ถ้ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น เรามีสติมีปัญญา จิตไม่เข้าไปยึดถือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่เข้าไปยึดถือจิต

วิธีทดสอบเมื่อคิดว่าได้มรรคผล

ถ้ารู้ทันกิเลสตัวเอง เวลาที่คิดว่าบรรลุมรรคผลอะไร ก็คอยสังเกตกิเลสตัวเองไป กิเลสอะไรยังไม่ละ กิเลสอะไรละแล้ว ละชั่วคราวหรือละถาวร สังเกตเอา ไม่ต้องเที่ยวถามคนโน้นคนนี้ เชื่อถือไม่ได้หรอก
มีจำนวนมากเลยที่ไปเรียนที่โน้นที่นี้ที่โน่น ไปเรียนมาจากที่ต่างๆ แต่ละที่เขารับรองได้โสดาบัน ได้สกทาคามี ได้อนาคามี เขารับรองให้ ไปเรียนอยู่ที่อื่น เขารับรองแล้วมาถามหลวงพ่ออีก จะให้หลวงพ่อรับรอง เรารับรองให้ไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ แต่หลวงพ่อจะสอนให้ ไปสังเกตกิเลสตัวเองเอา กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ ที่ละนั้นละเด็ดขาดหรือว่าละชั่วครั้งชั่วคราว กิเลสไม่ใช่ของเกิดตลอดเวลา มันเกิดเป็นคราวๆ กระทั่งสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน ก็เกิดเป็นคราวๆ ฉะนั้นไม่ใช่นึกๆ เอาว่า เอ๊ะ ตอนนี้ไม่มี ตอนนี้ไม่มีประเดี๋ยวมันมีก็ได้ ฉะนั้นหัดสังเกตกิเลสตัวเองไว้ให้ดีเถอะ หลวงพ่อไม่ได้พยากรณ์ให้ใครหรอก แต่จะชี้ให้ดู ชวนให้ดูกิเลสของตัวเอง

ความว่างของธาตุทั้ง 6

เวลาเราจะภาวนา เราก็นั่งปรุงแต่งไป ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เวลาภาวนาจะอยากปฏิบัติก็จะไปสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา ภพก็คือความปรุงแต่ง ไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ ทื่อๆ อะไร หรือบังคับกาย บังคับใจ นั่นคือความปรุงแต่งทั้งหมดเลย ถ้าตราบใดที่เรายังหลงอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง เราจะไม่เห็นความว่างของธาตุทั้ง 6 จะไม่เห็นความว่างของร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ในช่องว่าง คืออากาศธาตุ เราจะไม่เห็นว่าจิตใจมันก็เป็นธาตุ เป็นธาตุรู้ เพราะความปรุงแต่งนั้นเป็นเครื่องพะรุงพะรังออกมาปิดบังความว่างเอาไว้ อย่างอากาศ จักรวาลนี้มันว่าง เมฆมันลอยมา เราก็รู้สึกฟ้ามันมืด วันนี้ฟ้ามันทึบ ฟ้าไม่ได้มืด ฟ้าไม่ได้ทึบ ฟ้าก็เป็นอย่างนั้นล่ะ แต่เมฆมันมาบัง จิตนี้ก็เหมือนกัน โดยตัวมันมันว่างอยู่แล้ว แต่เมฆหมอก คือความคิดนึกปรุงแต่งเข้ามาบดบังญาณทัสสนะของเราเลยเห็นผิดไป เห็นผิด ความปรุงแต่งก็เลยปิดบังความว่างเอาไว้

จิตวางความปรุงแต่งเพราะปัญญา

เราภาวนา เรียนรู้ความจริงของจิตใจตัวเองไปเลย ใจเราสุขขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันก็จะเกิดรักเกิดโลภ ใจเราทุกข์ขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันจะเกิดโกรธ คอยรู้ทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราจะเห็น ปัญญามันจะเกิด เราจะเห็นว่าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในใจเราเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ดูให้เห็นอย่างนี้ ใจจะหมดความยึดถือในความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้นคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง ใจโลภขึ้นมาก็รู้ ใจไม่โลภแล้วก็รู้ ใจโกรธเราก็รู้ ใจไม่โกรธก็รู้ ใจหลงไปก็รู้ ฟุ้งซ่านใจหดหู่ รู้ทันไปเรื่อยๆ จนเห็นว่าทุกอย่างคือความปรุงแต่งทุกอย่าง เกิดแล้วดับหมด ปรุงดีเกิดแล้วก็ดับ ปรุงชั่วเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ต้องพยายามไม่ปรุง จิตมันไม่ปรุงเอง ถ้าพยายามไม่ปรุงก็คือความปรุงแต่ง ใช้ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพยายามไม่ปรุงแต่ง ให้เห็นความปรุงแต่งทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ถึงจุดหนึ่งจิตมันวางความปรุงแต่ง ก็เข้าถึงสุญญตา เข้าถึงพระนิพพาน

ธาตุกรรมฐาน

การปฏิบัติต้องดูให้ถึงกายถึงใจของตัวเอง ถ้าดูรูปไม่ต้องคำนึงหรอก ว่าเป็นมหาภูตรูปหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ ดูรูปที่เราดูได้ พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วในกายานุปัสสนา มีส่วนที่เป็นมหาภูตรูป รูปดิน น้ำ ไฟ ลม คือเรื่องธาตุ รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รู้สึกไว้ แล้วต่อไปเราเห็น รูปที่หายใจออกไม่ใช่เรา รูปที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดนี้จะไม่ใช่เรา มันจะเห็นว่าร่างกายทั้งหมดไม่ใช่เรา ถ้าเห็นรูปมันยืน ไม่ใช่เรา รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ไม่ใช่เรา ต่อไปปัญญาความรู้รวบยอดมันก็เกิด รูปทั้งหมดไม่ใช่เรา ตัวนี้ไม่เป็นเรา ที่เรามาหัดดูรูป ดูนาม ดูกาย ดูใจ เพื่อจะได้เห็นความจริงว่ามันไม่ใช่เรา มันก็แค่รูปธรรมที่ประกอบด้วยธาตุ 4 ธาตุ 4 เป็นสมบัติของโลก ร่างกายเราที่มีดินอยู่นี้ ก็ดินของโลก น้ำที่เรามีอยู่นี้ ก็เป็นน้ำของโลก ฉะนั้นตัวธาตุจริงๆ ไม่ใช่ของเรา

ปรุงทีไรก็ทุกข์ทุกที

ถ้าสติปัญญาเราแข็งแรงพอ เราก็จะเห็นไม่ว่าปรุงอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น คำว่าปรุงแต่ง สังขาร คำว่าภพ คำว่าการกระทำกรรมของจิต ก็คืออันเดียวกันนั่นล่ะ เรียกชื่อแตกต่างกันไป มีภพครั้งใด พระพุทธเจ้าท่านบอก มีภพเกิดขึ้นคราวใดก็มีทุกข์ทุกที สังขารความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที ทีนี้เราอยู่กับความปรุงแต่งจนเคยชิน เราไม่เคยเห็นว่าจิตปรุงแต่ง เรามาหัดให้รู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตดู แล้ววันหนึ่งเราจะเห็น ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรความทุกข์เกิดขึ้นทุกที กระทั่งปรุงสุข ปรุงสุขจิตก็มีความกระเพื่อมหวั่นไหวขึ้นมา สั่นสะเทือนขึ้นมา มันก็ทุกข์

เมื่อไรเห็นทุกข์จะวางทุกข์

ถ้าเห็นว่ากามนำความทุกข์มาให้ มันก็วางกาม เห็นกายคือตัวทุกข์ มันก็วางกาย วางกามมันก็วางกายนั่นล่ะ แล้วสุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิต วางจิตได้มันก็ที่สุดของการปฏิบัติ มันก็อยู่ตรงนั้นล่ะ แต่วางจิตได้ก็คือเห็นจิตนั้นคือตัวทุกข์ ฉะนั้นไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรมหรอก

ถ้าเห็นทุกข์ พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่เราเห็นทุกข์แล้ว ไม่เกิดขึ้น อย่างเราเห็นว่ากายเป็นทุกข์อย่างแท้จริง ความอยากให้กายเป็นสุข ไม่เกิดขึ้น ความอยากให้กายไม่ทุกข์ ไม่เกิดขึ้น มันรู้ว่าไร้เดียงสา อยากให้กายมีความสุข มันมีไปได้อย่างไร เพราะมันคือตัวทุกข์ ดูไปเรื่อย อยากให้กายไม่ทุกข์ อันนี้ก็ไร้เดียงสา อยากให้กายสุขก็ไร้เดียงสา อยากให้กายไม่ทุกข์ก็ไร้เดียงสา เพราะจริงๆ มันคือตัวทุกข์ เห็นไหมว่า ถ้าเราเห็นตัวทุกข์ทีเดียว มันตอบโจทย์หมดแล้ว รู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น

หน้าที่ของเราคือแหกคุกให้ได้

จิตเหมือนคนติดคุก มันถูกขังอยู่ในคุก แล้วมันก็เป็นคุกที่ป่าเถื่อน ตัณหาเป็นผู้คุมเราอีกที แล้วสั่งงานเราอยู่ในคุกตลอดเวลา คุกที่ขังจิตมันเคลือบครอบคลุมจิตอยู่ ตัวนี้คือตัวอาสวกิเลส มันครอบคลุมจิตใจเราไว้ ห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แทรกซึมเข้าไปในจิตใจ แล้วก็ผลักดันให้เกิดตัณหาบงการบังคับจิตใจทั้งวันทั้งคืน พอภาวนามาเห็นตรงนี้ หลวงพ่อยอมไม่ได้แล้ว แต่เดิมคิดว่าเราอิสระ แต่ตอนนี้รู้ความจริงแล้วว่าจิตใจเราไม่ได้อิสระ จิตใจเราเกิดมาก็เป็นทาสแล้ว ยอมไม่ได้ ต้องแหกคุกนี้ให้ได้ ถ้ายังทำลายคุกอันนี้ไม่ได้ จะไม่เลิกปฏิบัติหรอก คล้ายๆ หน้าที่ของเราคือแหกคุก แหกคุกก็คืออาสวกิเลสมันห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แล้วตัณหามันก็บงการจิตใจเรา

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เรียนรู้ลงไป ในที่สุดก็ทำลายนายทาสตัวนี้ลงไป แต่มันทำลายเป็นระดับๆ ไป อยู่ๆ ไปทำลายตัณหา ทำไม่ได้ จะทำลายตัณหาได้ต้องทำลายอวิชชาได้ ความไม่รู้ ของเราตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ของเราภาวนาไป เห็นไปร่างกายไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง จิตใจไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เพราะจิตใจเป็นของที่เราสั่งอะไรก็ไม่ได้ ดูอย่างนี้ก่อน แล้วขั้นปลายค่อยไปดูว่าร่างกายคือตัวทุกข์ จิตใจคือตัวทุกข์

Page 1 of 2
1 2