คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง

เราพยายามรอบคอบ สังเกตจิตใจของเราอย่างซื่อตรง ระมัดระวัง ค่อยๆ สังเกตไป อะไรมาอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา กุศลหรืออกุศล โลภหรือเปล่า โกรธหรือเปล่า หลงหรือเปล่า สังเกตไป ถ้าเราทำตรงนี้ได้ คำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของเรา จะสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ แล้วการที่เราคอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง เราไม่คิดไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แต่คิดไปด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ขณะที่เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองอย่างนั้นอยู่ สัมมาวายามะมันเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

เพราะเราอาศัยมีสติรู้เนื้อรู้ตัว อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป พอความชั่วมันมาครอบงำความคิดเราไม่ได้ คำพูดเรามันก็ดี การกระทำของเรามันก็ดี การดำรงชีวิตของเราก็ดี แล้วทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นก็คือความเพียรชอบแล้วก็มีความเพียรชอบ ในขณะนั้นเรากำลังมีความเพียรละกิเลส ละอกุศลที่กำลังมีอยู่ แล้วก็ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด ในขณะที่เรามีสติอ่านจิตใจตัวเองออก อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา ขณะนั้นเรามีสติ กุศลเกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด ที่เกิดแล้วก็เกิดบ่อยขึ้น ชำนิชำนาญขึ้น

วิธีปฏิบัติ

การปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตนั้น ไม่มีใครสั่งให้จิตปล่อยวางได้ จิตมันปล่อยวางเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของมันสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ได้ อาศัยสติเป็นเบื้องต้น อาศัยความรู้เนื้อรู้ตัว สติสัมปชัญญะ คอยรู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย ฟุ้งซ่านไปทั้งวัน อาศัยธรรมะคู่นี้ แล้วศีล แล้วสมาธิ แล้วปัญญาของเราจะแก่รอบ พอศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แก่กล้าขึ้นมาแล้ว จิตมันจะเห็นทุกข์เห็นโทษ มันยึดอะไรมันก็ทุกข์เพราะอันนั้น อย่างบางคนพระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอน มีนาก็ทุกข์เพราะนา ก็ห่วง กลัวคนอื่นเขาจะมารุกที่นาเรา มีบ้านก็ทุกข์เพราะบ้าน เป็นห่วง เดี๋ยวปลวกมันจะกิน เดี๋ยวธนาคารจะมายึด มีรถยนต์ก็เป็นห่วงรถยนต์ มีลูกก็ห่วงลูก มีเมียก็ห่วงเมีย มีพ่อมีแม่ก็ห่วงพ่อห่วงแม่ มีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นทั้งหมดเลย

เราค่อยๆ สังเกตตัวเองเรื่อยๆ ไป ปัญญาของเราจะแก่กล้าเลย ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น

เราเรียนรู้ความจริง ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อย่านึกว่าชีวิตเราไม่ทุกข์ นั่งอยู่นี่ก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เมื่อย ความทุกข์มันบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลาเลย เฝ้ารู้ลงไป ถ้าเราเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะปล่อยวางกาย ถ้าเราเห็นว่าจิตมันเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เพราะบังคับไม่ได้ รู้อย่างนี้แจ่มแจ้ง มันจะปล่อยวางจิต ตรงที่มันปล่อยวางจิตได้ ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั้น