กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

จากสังขตธรรมสู่อสังขตธรรม

โลกไม่มีอะไร โลกเป็นแค่ความปรุงแต่ง หรือเรียกว่าสังขตธรรม เรียกง่ายๆ ว่าสังขาร สังขารมีหลายความหมาย สังขารขันธ์หมายถึงความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต สังขารในภาพใหญ่หมายถึงกายใจของเรา รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้เรียกว่าสังขาร ภาวนาไปก็จะเห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาทดแทน ถ้าเรารู้โลกแจ่มแจ้ง โลกนี้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นอย่างนี้ จิตมันจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วจิตมันจะเข้าถึงสภาวธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คืออสังขตธรรม

หลักสูตรการฝึกสติ

สิ่งที่เราจะต้องฝึกให้มากคือสติ หลักสูตรในการฝึกสติ พระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว เรียกว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเป็นวิธีฝึกให้เรามีสติในเบื้องต้น แล้วสติปัฏฐานเมื่อเรามีสติแล้ว เราปฏิบัติต่อไป เราจะเกิดปัญญา ฉะนั้นสติปัฏฐานมี 2 ระดับ เบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา เมื่อจิตเกิดปัญญารู้ความจริงของกายของใจแจ่มแจ้งแล้ว วิมุตติมันจะเกิด

ใช้รูปธรรมนามธรรมเป็นอารมณ์กรรมฐาน

เราจะปฏิบัติธรรมเราต้องรู้หลักให้ดี งานที่เราจะทำ งานหลักคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือรูปธรรมนามธรรม อย่างร่างกายเราเป็นรูปธรรม ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทั้งหลายเป็นนามธรรม ร่างกายเป็นตัวรูปธรรม เจริญปัญญานี้ก็ต้องรู้รูปธรรมรู้นามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรม ถัดจากนั้นรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม หรือเบื้องต้นรู้ความมีอยู่ของนามธรรม ถัดจากนั้นก็รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของนามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ แล้วต่อไปก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ร่างกายนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ถูกความทุกข์บีบคั้น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา แล้วก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตใจไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการเจริญปัญญา

การปฏิบัติสู่อริยมรรคอริยผล

การที่เราทำกรรมฐานแล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองด้วย นอกจากจะสงบ เรายังจะได้สมาธิอีกชนิดหนึ่งแถมมาด้วย คือจิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ พอตั้งมั่นแล้วก็มีแรงแล้วก็ต้องเดินปัญญา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วจิตเราเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ก็ให้รู้ เกิดกุศลก็ให้รู้ เกิดโลภก็ให้รู้ เกิดโกรธก็ให้รู้ เกิดหลงก็ให้รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันก็พอกพูนขึ้น ถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ มันรู้จริงแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ มันก็เลยเป็นกลาง ไม่หลงยินดีกับสุข ไม่หลงยินร้ายกับทุกข์ ไม่หลงยินดีกับกุศล ไม่หลงยินร้ายกับอกุศล ถ้าเดินปัญญาถึงจุดนี้ เราเข้ามาสู่ประตูของอริยมรรคอริยผลแล้ว ถ้าบุญบารมีเราสะสมมาเพียงพอ อริยมรรคอริยผลจะเกิดขึ้นไม่มีใครสั่งจิตให้เกิดอริยมรรคอริยผลได้ จิตเกิดอริยมรรคอริยผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แก่รอบแล้ว

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ก่อนที่เราจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ต้องซ้อมไว้ก่อน การซ้อมก็คือการปฏิบัติในรูปแบบ แล้วต้องมีวินัยในตัวเอง ถ้าเราไม่มีวินัยในตัวเอง เราก็จะอ้าง มีข้ออ้างมากมายที่จะไม่ปฏิบัติ ทีเรื่องอื่นขาดไม่ได้ แต่เรื่องปฏิบัตินี้ขาดได้ เว้นได้ ใจมันไม่เด็ดพอ ใจแบบนี้โอกาสได้มรรคผล ยาก ต้องใจเด็ดจริงๆ ใจเข้มแข็งจริงๆ ฉะนั้นถ้าเราอยากได้ดิบได้ดี ในทางธรรมะในชีวิตนี้ เราไม่พูดถึงว่าจะสะสมบารมีอีกหลายภพหลายชาติแล้วจะได้ธรรมะ เสียเวลา ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้าไม่มีข้ออ้าง จะต้องทำอีกนานๆ ถึงจะได้

เรียนเข้ามาให้ถึงจิต

เรียนเข้ามาให้ถึงจิตเลยตั้งแต่เริ่มต้น ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานรู้ทัน ทำกรรมฐานไปขี้เกียจขึ้นมารู้ทัน ทำกรรมฐานแล้วรู้สึกมีความสุขรู้ทัน นี่คอยรู้ทันจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป ถ้าต้องการความสงบ เวลามีความสุขก็อย่าไปเพลินมาก รู้ยินดีพอใจมัน จิตเราจะประณีตจะสงบยิ่งกว่าเก่าอีก เวลาที่เราภาวนาจิตสงบนี่จะเป็นระดับของฌาน ในเบื้องต้นจิตจะมีปีติมีความสุข แล้วเราภาวนาไป เราเห็นจิตมีปีติ ปีติดับ จิตมีแต่ความสุข ดูไปอีก ความสุขดับ จิตเป็นอุเบกขา ถ้าจิตยังมีปีติมีความสุขอะไรนี้ เป็นสมาธิขั้นต้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าจิตเป็นอุเบกขาคือเป็นกลาง ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นกลาง ไม่หลงไปในความยินดี ไม่หลงในความยินร้าย นั่นคือจิตที่มีสมาธิเต็มที่แล้ว ถ้าเราทำได้ขนาดนั้นเวลาเรามาเจริญปัญญา ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ จะเห็นจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราจะใช้เวลาในการเจริญปัญญาไม่มากหรอก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้ก็เข้ามาที่จิตเลย แต่บางคนเข้าที่จิตตรงๆ ไม่ได้ ก็รู้สึกร่างกายไปก่อน เดินอ้อมหน่อยดีกว่าไม่เดิน

ธรรม 10 ประการของนักปฏิบัติ

มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร 5 ข้อ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถัดจากนั้นคือมีวิมุตติ ตัวที่เก้าคือเกิดอริยมรรคเกิดอริยผล พอเกิดอริยมรรคอริยผลแล้ว มันก็ขึ้นมาถึงตัวสุดท้าย ตัวที่สิบชื่อวิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะไม่ใช่เห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นฟุ้งซ่าน วิมุตติญาณทัสสนะก็คือจิตมันทวนกลับเข้าไปพิจารณาว่าตอนที่เกิดอริยมรรคอริยผลนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อริยมรรคได้ทำลายล้างกิเลสชั้นละเอียดคือตัวสังโยชน์ได้กี่ตัวแล้ว ยังเหลือกี่ตัว ทำลายไปกี่ตัว

ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ

Page 1 of 6
1 2 3 4 5 6