จริตเพื่อการทำวิปัสสนา

เวลาจะทำวิปัสสนามี 2 จริต เพราะฉะนั้นอย่างบางคนถาม บอกว่าหนูเป็นโทสจริต หนูจะทำวิปัสสนาอย่างไร อันนั้นถามผิดเรื่อง ถ้าโทสจริต อันนั้นเป็นเรื่องของการแก้ ทำให้จิตสงบ ไม่ตกอยู่ในอำนาจโทสะ เป็นเรื่องของสมถะ จริตเพื่อการทำวิปัสสนานั้นมี 2 จริต คือตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต ตัณหาจริตคือพวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ทิฏฐิจริตคือพวกช่างคิด ชอบวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ มีอะไรหน่อยหนึ่งก็คิดแล้วคิดอีกอยู่นั่น

ค่อยๆ ดู กรรมฐานมันมีเยอะแยะไปหมด ดู เลือกเอาที่เหมาะกับตัวเรา มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ในการทำวิปัสสนา ถ้าเป็นพวกตัณหาจริต พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ดูกายหรือเวทนาทางกายไป ถ้าเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็นอะไรนี่ ก็ดูจิตตานุปัสสนา ดูจิตกับเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน 2 อันนี้เหมาะกับพวกทิฏฐิจริต

หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อให้ดูจิต

สิ่งที่หลวงปู่ดูลย์สอน เป็นทางที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว ถ้าเราสามารถตัดตรงเข้ามาที่จิตเรา การปฏิบัติจะเหลือนิดเดียวเลย แต่ถ้าเรายังเข้ามาที่จิตไม่ได้ เราก็อ้อมๆ ไปก่อน ไปดูกาย ดูเวทนา ดูสังขารอะไรไป แต่ถ้าตัดตรงเข้ามาเห็นจิตได้ เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลงเกิดแล้วดับ อย่างนี้ดูจิตไปเลย วันไหนดูไม่ไหว จิตไม่มีกำลัง ไปดูกาย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไป จิตมันมีกำลังขึ้นมา มันก็จะเข้ามาดูจิตได้เอง นี่เส้นทางที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลวงพ่อมา แล้วหลวงพ่อก็เอามาทำ ใช้เวลาไม่มาก

คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง

เราพยายามรอบคอบ สังเกตจิตใจของเราอย่างซื่อตรง ระมัดระวัง ค่อยๆ สังเกตไป อะไรมาอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา กุศลหรืออกุศล โลภหรือเปล่า โกรธหรือเปล่า หลงหรือเปล่า สังเกตไป ถ้าเราทำตรงนี้ได้ คำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของเรา จะสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ แล้วการที่เราคอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง เราไม่คิดไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แต่คิดไปด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ขณะที่เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองอย่างนั้นอยู่ สัมมาวายามะมันเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

เพราะเราอาศัยมีสติรู้เนื้อรู้ตัว อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป พอความชั่วมันมาครอบงำความคิดเราไม่ได้ คำพูดเรามันก็ดี การกระทำของเรามันก็ดี การดำรงชีวิตของเราก็ดี แล้วทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นก็คือความเพียรชอบแล้วก็มีความเพียรชอบ ในขณะนั้นเรากำลังมีความเพียรละกิเลส ละอกุศลที่กำลังมีอยู่ แล้วก็ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด ในขณะที่เรามีสติอ่านจิตใจตัวเองออก อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา ขณะนั้นเรามีสติ กุศลเกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด ที่เกิดแล้วก็เกิดบ่อยขึ้น ชำนิชำนาญขึ้น

ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ถ้าใจเราเข้าใจความจริงตรงนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากโลก อย่างร่างกายเรามันก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู โลกข้างนอกก็เหมือนกัน ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็ปีหนึ่งๆ หนึ่งปีผ่านไป โลกข้างนอกก็เปลี่ยนไป ร่างกายเราก็เปลี่ยนไป จิตใจเราก็เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ วุ่นวายไปเรื่อยๆ ถ้าคนไหนทำกรรมฐาน 1 ปีผ่านไป จิตใจเราก็สงบ ตั้งมั่น แข็งแรงมากขึ้น ถ้าตามใจกิเลส 1 ปีผ่านไป จิตใจก็ยิ่งลำบากมากขึ้น ไม่มีอะไรคงที่ ชั่วหรือดีก็ไม่คงที่เหมือนกัน

เรียนรู้ให้เห็นความจริง เราไม่ได้มุ่งไปที่ความดี ความสุข ความสงบอะไรหรอก เพราะความดีไม่เที่ยง ความสุขไม่เที่ยง ความสงบไม่เที่ยง เราทำกรรมฐานเพื่อให้จิตมันเห็นความจริง ป้อนความจริงไว้ให้จิตดู ความจริงของร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความจริงของจิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้แต่โลกภายนอกก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ป้อนข้อมูลที่ดีๆ อย่างนี้ ข้อมูลที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ป้อนเข้าไปให้จิตมันเรียนรู้ไป พอมันรู้ความจริง เดี๋ยวมันก็วางโลกเอง โลกไม่มีอะไรนอกจากทุกข์

ธรรมะช่วยเราได้สารพัด

ธรรมะช่วยเราได้สารพัด แต่เราไม่เข้าใจคำว่า ธรรมะๆ คิดว่าธรรมะคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม อันนั้นตื้นเกินไป การใช้ชีวิตอย่างมีเหตุมีผลก็เป็นธรรมะแล้ว เป็นธรรมะเพื่อการอยู่กับโลก ธรรมะที่อยู่กับโลก พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้เยอะแยะ จะดูแลครอบครัวอย่างไร ดูแลลูกน้องอย่างไร จะปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างไร ท่านสอนไว้เยอะแยะ เอาไปทำได้ก็ดี ถ้าง่ายที่สุดก็คือเรียนรู้ทันจิตใจตัวเอง ไม่ว่าจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร อย่าให้กิเลสมันครอบงำ

โลกวุ่นวาย เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

เราฝึกตัวเองทุกวันๆ ศีลต้องรักษา สมาธิคือการทำในรูปแบบ ต้องทำ ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต แล้วก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของเราเป็นอย่างไร คอยรู้เท่าทัน สติมันจะเกิด สมาธิมันก็เกิด ปัญญามันก็เกิด สุดท้ายวิมุตติมันก็เกิด อยากดูว่ากฎแห่งกรรมมีไหม ดูที่จิตเรานี่ล่ะ เวลาเราโมโหมากๆ โกรธเต็มเหนี่ยวเลย ตอนที่หายโกรธแล้ว มาดูสิ จิตรับวิบาก จิตไม่มีความสุขหรอก หรือเวลามีราคะแรงๆ ประเภท แหม หื่นมากเลยอะไรอย่างนี้ พอราคะนั้นผ่านไปแล้ว มาดูสิ จิตผ่องใสหรือเศร้าหมอง เราจะรู้เลยว่า ทำชั่วไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนก็มีผลที่ไม่ดี ใจมันจะค่อยๆ ขยาดต่อการทำชั่ว จะขวนขวายที่จะทำดีให้มากขึ้นๆ เพื่อจะได้พ้นจากการเวียนว่าย ไม่ได้ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่อย่างนี้ ใจมันจะค่อยๆ อยากพ้นไป แล้วจะขยันภาวนา ฝึกทุกวันๆ แล้ววันหนึ่งจะได้ดี โลกเขาก็วุ่นวายอย่างนี้ล่ะ เราไม่ห้ามมัน ห้ามมันไม่ได้ แต่เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

งานภาวนา 3 ขั้น

งานแรก คือตื่นขึ้นมา หลุดออกจากโลกของความคิดความฝันโดยที่ไม่เผลอไม่เพ่ง อันที่สอง คือ แยกขันธ์ออกมาให้ได้ งานที่สามของเรา คืองานเจริญวิปัสสนา พอเราแยกขันธ์ได้ เราก็จะเห็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนามเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่การทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา แล้วบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจอยาก นี่คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ทุกวันปฏิบัติในรูปแบบ ระหว่างวันใช้เห็นจิตหลงแล้วตามรู้ ส่วนใหญ่จิตหลงไปคิดทั้งวัน

ทำถูกแล้วก็ทำสม่ำเสมอ ฝึกให้สม่ำเสมอ มันก็จะพัฒนามากขึ้นๆ รู้ทันการทำงานของจิตไปเรื่อยๆ หายใจไปพุทโธไปเป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องสังเกตเมื่อไรจิตมันหนีไป มันก็จะลืมหายใจ ลืมพุทโธ เพราะฉะนั้นที่เราหายใจ เราพุทโธ เพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิตเท่านั้นเอง ไม่ใช่เป็นเครื่องบังคับจิต ถ้าบังคับจิตเดี๋ยวจิตเครียด สมาธิก็ไม่เกิดหรอก สมาธิไม่เกิดปัญญาก็ไม่เกิด

ดูสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดูหลงไปคิดแล้วรู้ว่าหลง

ต้องรู้อย่างหนึ่ง จิตที่หลงกับจิตที่มาอยู่กับลมหายใจแล้วพุทโธนี่เป็นคนละดวงกัน ฉะนั้นเราเวลาจิตหลงไป เราไม่ต้องไปดึงคืนมาอยู่ที่ลมหายใจ จิตที่หลง หลงแล้วก็แล้วไป ทิ้งมันไปเลย กลับมาเกิดจิตดวงใหม่ อยู่กับลมหายใจอยู่กับพุทโธ ต่อไปเราก็จะเห็นจิตมันก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตหลง นี่จิตก็ค่อยๆ พัฒนาไป