วิธีฝึกสติคือการหัดรู้สภาวะ

สติเองก็เป็นอนัตตา สั่งให้เกิดไม่ได้ สติมีการที่จิตเราจำสภาวะได้แม่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ฉะนั้นเราจะต้องมาหัดรู้สภาวะ สภาวะมีรูปธรรมมีนามธรรม สภาวะก็คือสิ่งที่ประกอบกันขึ้น เป็นร่างกายจิตใจของเรานี้เอง พยายามเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ให้มาก รู้สึกให้มาก หัดรู้ให้เห็นถึงตัวสภาวะให้ได้ แล้วสติตัวจริงถึงจะเกิด สติตัวจริงเกิดเมื่อไร สัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดร่วมด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นจับหลักให้แม่น หัดดูสภาวะไป ถนัดดูรูปธรรมก็ดูไป ถนัดดูนามธรรมก็ดูไป

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เรามีสติเรียนรู้ร่างกายไปเรื่อยๆ เห็นร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่วัตถุธาตุที่เรายืมของโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว แล้ววันหนึ่งเราก็ต้องคืนทุกสิ่งทุกอย่างให้โลก สิ่งที่เป็นร่างกายของเราวันนี้ วันข้างหน้าอาจจะไปเป็นร่างกายของหนอน เป็นร่างกายของต้นไม้ ต้นไม้ก็กินเราเข้าไปเป็นสารอาหาร หรือไปเป็นถนนให้คนเดิน กลายเป็นดินเป็นอะไรไป บางทีก็ไปอยู่ในน้ำทะเล อยู่ในแม่น้ำกระจัดกระจายไป ลมหายใจที่เราหายใจ คนอื่นมันก็เอามาหายใจมาก่อนเราแล้ว เราก็แค่ยืมลมหายใจเอามาใช้ ลมที่เราหายใจเข้าไป เราไม่รู้เลยคนอื่นหายใจมาก่อนหรือเปล่า หมามันหายใจมาก่อนหรือเปล่า ลมอันนี้ ธาตุมันหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ เห็นแล้วก็ควรสลดสังเวช ไม่น่ายึดถืออะไร ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร ยืมเขามาใช้ ไม่ใช่ของสะอาดหมดจดด้วย ถึงวันหนึ่งก็ต้องคืนเจ้าของ คืนให้โลกไป

หนทางรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง

พวกเราชาวพุทธทั้งหลายฝึกเดินในเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอน รู้ทุกข์คือรู้กายรู้ใจของตัวเอง อย่าละเลย รู้เรื่อยๆ จนวันหนึ่งเห็นความจริง ร่างกายจิตใจของเราเป็นแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตมันจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ พอมันไม่ยึดถือมันหลุดพ้น ต่อไปร่างกายจะแก่จิตไม่สะเทือนเลย ร่างกายจะเจ็บจิตไม่หวั่นไหว ร่างกายจะตายจิตบางทีเบิกบานด้วยซ้ำไป ตัวทุกข์มันจะแตกแล้ว จิตที่ฝึกอบรมดีแล้วนำความสุขมาให้เรา แล้วการจะฝึกอบรมให้ดีก็คือการรู้ทุกข์นั่นล่ะ ดีที่สุดเลย หัดรู้สภาวะเรื่อยๆ แล้วสัมมาสติก็เกิด สัมมาสติเกิดเมื่อไร สัมมาสมาธิก็เกิด มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะคือการเจริญปัญญาก็จะเกิด ไม่ได้คิดเอา แต่ต้องเห็นสภาวะเอา

เรียนธรรมคู่เพื่อรู้ธรรมหนึ่ง

หัดรู้สภาวะไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เริ่มต้นเรารู้คู่ใดคู่หนึ่งก็พอแล้ว เช่น จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ จิตโลภกับจิตไม่โลภ ตอนนี้อยาก ตอนนี้เฉยๆ อย่างนี้ หัดดูสิ่งที่เป็นคู่ๆ ตอนนี้สุข ตอนนี้ทุกข์ ตอนนี้สุข ตอนนี้เฉยๆ อันนี้ก็เป็นเซ็ตหนึ่งมี 3 ตัว สุข ทุกข์ เฉยๆ หัดเรียนกรรมฐานเรียนเซ็ตเดียวพอ คู่เดียวพอแล้ว อย่างเห็นจิตโกรธกับจิตไม่โกรธ ทั้งวันก็มีแต่จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ ถ้าเราดูตัวอยากทั้งวันก็มีแค่ตอนนี้อยากตอนนี้ไม่ได้อยาก ก็มีแค่นี้เอง หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นว่าจิตเราเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เดี๋ยวเหวี่ยงซ้าย เดี๋ยวเหวี่ยงขวา เดี๋ยวอยาก เดี๋ยวไม่อยาก เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวไม่โกรธ ตรงที่มันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา มันกำลังสอนไตรลักษณ์เรา จิตอยากก็ไม่คงที่ จิตไม่อยากก็ไม่คงที่ เห็นไหมจิตโกรธก็ไม่คงที่ จิตไม่โกรธก็ไม่คงที่ ฉะนั้นเวลาเรียนธรรมะ เรียนเป็นคู่ คู่เดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องเรียนเยอะหรอก

เรียนรู้กายใจด้วยใจปกติ

รู้ด้วยใจปกติเลย อย่าไปทำใจให้ผิดปกติ จิตใจปกติในการที่เราจะใช้ปฏิบัติธรรม จิตปกติของเราพระพุทธเจ้าท่านเรียกจิตเดิม จิตธรรมดาของเรานี่เอง มันประภัสสรอยู่แล้ว มันผ่องใส แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา แค่อยากปฏิบัติมีโลภะเกิดขึ้น จิตก็ผิดปกติแล้ว เราจะใช้จิตใจของคนธรรมดานี่ล่ะ ปกติอย่างนี้ เรียนรู้กายเรียนรู้ใจ อย่างร่างกายเราหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก รู้ด้วยจิตปกติ ไม่ต้องวางฟอร์มเป็นนักปฏิบัติ ต้องไม่เหมือนคนธรรมดาอะไร นี่เข้าใจผิดอย่างยิ่งเลย เสียเวลา อย่างขณะนี้ร่างกายเรานั่งอยู่ ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้นั่งอยู่ ไม่เห็นยากเลย ตอนนี้ขยับส่ายหัวอย่างนี้ ส่ายหน้า รู้สึก รู้สึกด้วยใจปกติใจธรรมดา ฉะนั้นมันจะไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากเพราะเรามีความเห็นที่ว่าการปฏิบัติต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ไม่ถูก สิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่าสีลัพพตปรามาส

หลักของการดูจิต

จิตมันก็ทำงานไปตามธรรมชาติ แล้วมันก็ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว ไปตามเรื่องของมัน หน้าที่เราคืออ่านจิตใจตัวเองให้ออก การดูจิต เราไม่ได้ดูเพื่อละกิเลส เพราะถ้าเมื่อไรมีสติ รู้ทันจิตใจตัวเอง มันไม่มีกิเลสจะให้ละ เพราะฉะนั้นเราเจอกิเลส เรื่องเล็กมากเลย มีสติรู้ปุ๊บ กิเลสดับเองเลย ไม่ต้องหาทางละกิเลส

หัดสังเกตใจตัวเอง

ต้องสำรวจใจของเราเองบ่อยๆ ถ้าเราอ่านใจตัวเองออก สังเกตบ่อยๆ แล้วสติ สมาธิ ปัญญาของเราจะดีขึ้น หัดอ่านใจตัวเองไว้ ใจเราขณะนี้เป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ต้องสนใจที่อื่นหรอก สนใจใจของเราเอง ถ้าเราคอยสังเกตใจของเรา ใจเป็นอกุศลก็รู้ ใจเป็นกุศลก็รู้ สังเกตไปเรื่อยๆ มันโลภขึ้นมาก็รู้ มันโกรธขึ้นมาก็รู้ มันหลงขึ้นมาก็รู้ รับรองว่าพัฒนาแน่นอน ถ้าสังเกตอย่างนี้ เพราะการที่เราคอยสังเกตจิตใจของเราเองว่ามีอกุศลไหม เป็นกุศลหรือยัง คอยสังเกตไป มันคือการเจริญสัมมาวายามะ ถ้าสัมมาวายามะเราทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ สัมมาสติเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สัมมาสมาธิเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก ก็จะทำให้การเจริญปัญญาสมบูรณ์ขึ้นมา มีสัมมาญาณะ มีสัมมาวิมุตติ เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา

มีสติรู้ทันผัสสะที่เกิดขึ้น และวางใจเป็นกลางด้วยอุเบกขา ที่ประกอบด้วยปัญญาในการเห็นไตรลักษณ์

คำถาม: ในรูปแบบ ทำสมถะด้วยอานาปานสติ สลับกับเจริญปัญญาด …

Read more

เราต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจทุกข์โทษของกามทั้งหลายไปเรื่อยๆ จนไม่ทุกข์จากกามใช่ไหม

คำถาม: จิตใจติดกับความสุขในกามน้อยลง จิตใจอยู่กับปัจจุบ …

Read more

Page 2 of 67
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 67