พระพุทธเจ้าให้รู้ทุกข์

คำสอนของพระพุทธเจ้าจะอยู่ในกฎของคำว่า ให้รู้ทุกข์ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้ไปเรื่อยๆ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน คอยรู้สึกตัวไว้ ร่างกายที่ทำไมต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจเข้า ต้องหายใจออก ทำไมมันต้องกินข้าว ทำไมมันต้องขับถ่าย ทำไมมันต้องดื่มน้ำ ทำไมต้องปัสสาวะ เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์ ไม่ใช่ของวิเศษหรอก เราอาศัยมันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยึดถือ เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจ

หลวงปู่อบรมทีมงาน

เราเป็นทีมงานของหลวงพ่อ
จุดสำคัญที่หนึ่งเลย ตัวเองต้องพัฒนาได้
จุดที่สอง อย่าให้กระทบการทำมาหากินของตัวเอง
เป็นฆราวาสต้องทำมาหากินด้วย
ไม่ใช่จะมาทำงานอาสาสมัครจนกระทั่งไม่มีจะกิน
อีกจุดหนึ่ง ครอบครัวสำคัญ
มีลูกมีครอบครัวต้องดูแล
ไม่ใช่ทิ้งครอบครัวทิ้งลูกตามยถากรรม
มาทำงานอาสาสมัครช่วยหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่ต้องการ
คือพวกเราทำงานอาสาสมัคร
อย่าให้การปฏิบัติเสีย
อันนี้ข้อที่หนึ่งเลย จำเป็นที่สุดเลย
อย่าให้หน้าที่การงานเสีย อย่าให้ครอบครัวเสีย

อ่านจิตตนเอง

การที่เราอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่แค่จะได้สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่ได้แค่สัมมาวายามะ แต่สติของเราจะเข้มแข็งมากขึ้นๆ ทีแรกต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว สติเราพัฒนาแล้ว ทีแรกต้องมีราคะรุนแรงถึงจะรู้ ต่อไปใจโลภนิดเดียว แค่อยากเห็นรูป ก็เห็นแล้ว อย่างเรานั่งอยู่ ได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ เราอยากฟัง อยากหันหน้าไปดู เราก็รู้ทัน เรารู้ได้ละเอียดขึ้นๆ สติเราเร็วขึ้นๆ นั่นล่ะเป็นสัมมาสติ สามารถระลึกได้โดยที่ไม่ได้เจตนาระลึก

หลวงพ่อเริ่มที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ขึ้นมานี้ เริ่มมาจากประโยคเดียว “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เห็นไหม การอ่านจิตตนเองครอบคลุมองค์มรรคทั้ง 8 ได้ การอ่านจิตตนเองนั้น คือการเรียนรู้ทุกข์นั่นเอง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคอัตโนมัติ ไปฝึกเอา ไปทำเอา ไม่มีใครช่วยใครได้หรอก

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

หลักต้องแม่น ศิลปะต้องมี

หลักของการปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าสอนแต่ละคนมีหลักของการปฏิบัติ หลักของสติปัฏฐาน ของสมถะ ของวิปัสสนา สอนเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 24 อะไรอย่างนี้ แต่ตอนที่ลงมือปฏิบัติมันมีศิลปะ ศิลปะว่าตอนนี้ควรจะทำสมถะ หรือควรจะทำวิปัสสนา ถ้าจะทำสมถะ สมถะชนิดไหนเหมาะกับเรา ชนิดไหนไม่เหมาะ จะทำวิปัสสนาจะใช้กรรมฐานอะไร แล้วจะมองในมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา มันเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เราสังเกตตัวเอง