วิมุตติเกิดเมื่อเห็นไตรลักษณ์มากพอ

พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ ตัวตัณหา ตัวราคะ

วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น

วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ

กรรมฐานในยุควุ่นวาย

ยุคนี้คือยุควุ่นวายไม่ใช่ยุควิเวก เมื่อมันวุ่นวายเราก็ต้องดูกรรมฐานที่มันทำได้ เราไม่ต้องไปฝันหรอกเรื่องจะเข้าฌานได้ กรรมฐานที่เหมาะกับพวกฟุ้งซ่าน พวกคิดมาก คือสังเกตจิตใจของเราไป ตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต ดูได้ทั้งวันยิ่งดี ตั้งแต่ตื่นนอนแล้วดูไปเรื่อยๆ เลย เฝ้ารู้เฝ้าดูจนเราเห็นความจริง ความจริงของร่างกาย ความจริงของจิตใจไป ดูมันไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็จะเห็นว่า อารมณ์ตัวที่หนึ่งเกิดแล้วก็ดับ ตัวที่สองเกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันจะเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด มันจะรู้ว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ทุกตัวที่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น

ภาวนาสม่ำเสมอ บางช่วงมีสติอัตโนมัติ แต่บางช่วงฟุ้งซ่านมาก

ขยันภาวนา ชีวิตก็จะดี มีความสุขมากขึ้น แยกขันธ์เป็นแล้ว เราก็ดูแต่ละขันธ์มันแสดงไตรลักษณ์ของมันไป แต่ละขันธ์ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูไปเรื่อยๆ พอดูไปสักช่วงหนึ่ง จิตฟุ้งซ่านก็กลับมาทำความสงบ พอสงบพอสมควรแล้ว เราก็ออกไปดูขันธ์มันทำงานต่อ อย่าสงบยาวนานเป็นวันๆ เสียเวลา สงบพอให้ตั้งหลักได้ ไม่ตะลุมบอนกับอารมณ์

ยังฟุ้งอยู่มาก บางครั้งพอเริ่มรู้สึกฟุ้งซ่าน ก็จะเริ่มคิดคำพูดของหลวงพ่อที่ว่า “ให้เห็นตามความเป็นจริง” พอดูไปสักพักความฟุ้งซ่านนั้นก็ค่อยคลายไป

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบโดยการนั่งสมาธิมา 2 เดือน ใช้พุทโธเป็นเครื่องอยู่ ถ้าฟุ้งมากจะใช้การสวดมนต์ หรือนับเลข 1 – 100 พร้อมดูลมหายใจ พอใจเริ่มสงบลง ก็จะกลับมาพุทโธพร้อมกับดูลมหายใจ เริ่มเห็นน้ำหนักของจิต เวลาที่มีความคิดหรือมีความรู้สึกเกิดขึ้นมากขึ้น แต่ยังฟุ้งอยู่มาก บางครั้งพอเริ่มรู้สึกฟุ้งซ่าน ก็จะเริ่มคิดคำพูดของหลวงพ่อที่ว่า “ให้เห็นตามความเป็นจริง” พอดูไปสักพักความฟุ้งซ่านนั้นก็ค่อยคลายไป ไม่ทราบว่าที่คิดแบบนี้ผิดหรือไม่คะ

 

หลวงพ่อ:

ไม่ผิดหรอก แต่ต้องฝึกเพิ่มเติมไป สมาธิเรายังไม่แข็งแรง สมาธิมันยังไม่แข็งแรง พยายามฝึกมีเครื่องอยู่ ดีแล้ว หายใจเข้าพุท – ออกโธอะไรก็ทำทุกวันๆ จนกระทั่งมาอยู่ในชีวิตอย่างนี้ ถ้าเราไม่ได้เดินข้ามถนน ไม่ได้ขับรถ ไม่ได้ทำอะไรที่เสี่ยง เราก็ยังหายใจเข้าพุท – ออกโธได้ อย่างเราจะกินข้าวอะไรอย่างนี้ เราก็คอยรู้สึกๆ ไป เวลากินข้าวเราหายใจเข้า หรือหายใจออก ดูออกไหม เคยรู้ไหม เวลาเรากลืนอาหาร หายใจเข้า หรือหายใจออก โอ้นี่ยังไม่ใช่นักอานาปานสติตัวจริง ถ้านักอานาปานสติตัวจริงจะรู้เลย ตอนกินข้าว ตอนกลืนน้ำอะไรอย่างนี้ ตอนกลืนอาหารหายใจเข้า หรือหายใจออก รู้เอง หรือถ้าเราฝึกรู้สึกกายจนชิน ร่างกายขยับมันรู้เอง มันรู้สึกเอง ไม่ได้เจตนา ฉะนั้นเราไปทำสมาธิเพิ่มขึ้น หายใจเข้าพุทโธไปเรื่อยๆ หายใจเข้าพุท – ออกโธไปเรื่อยๆ จิตเราจะได้มีกำลัง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564