การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

การเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญมากเลย หลวงปู่มั่นท่านเคยสอนว่าทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน หัวใจอยู่ตรงนี้ เก่งเฉพาะตอนนั่งสมาธิตอนเดินจงกรมไม่ได้กินหรอก วันหนึ่งจะนั่งเท่าไรจะเดินเท่าไร เวลาส่วนใหญ่ถ้าภาวนาไม่เป็น โอกาสจะได้มรรคผลนิพพานยากเหลือเกิน การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลักการง่ายๆ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัส มีใจก็คิดนึกไปตามธรรมชาติธรรมดา ไม่ห้าม ใจเราจะคิดดีคิดร้ายอะไร ห้ามได้ที่ไหน จิตมันเป็นอนัตตา

วางขันธ์ได้ก็คือวางโลกได้

ถ้าดูจิตได้ ไม่นานเราก็จะเห็นจิตไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ตัวเราเพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บังคับอะไรไม่ได้ ถ้าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 มันก็อาศัยจิตเกิดขึ้นมา ถ้าเมื่อไรเราเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ก็จะไม่ใช่เรา โลกทั้งโลก จักรวาลทั้งจักรวาลก็ไม่ใช่เรา แล้วถ้าวันใดที่ภาวนาจนเห็นความจริงว่าจิตคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 ก็คือทุกข์ โลกก็คือทุกข์ จักรวาลทั้งหมดก็คือทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเลย จิตก็จะวางจิต วางจิตได้ก็คือวางขันธ์ได้ วางขันธ์ได้ก็คือวางโลกได้ ฉะนั้นหลุดพ้นที่จิตที่เดียวนี้เอง ก็จะหลุดพ้นจากขันธ์ 5 ทั้งหมดได้

มิจฉาสมาธิ

ถ้าสมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปทำสมถะโอกาสพลาดก็สูง หลงนิมิตเอา สมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปเดินวิปัสสนา ก็ถูกวิปัสสนูปกิเลสเอาไปกิน หลอก คิดว่าบรรลุธรรมแล้ว บางทีคิดถึงขนาดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ฉะนั้นเลยต้องเรียนกันให้มากหน่อย เรื่องของสมาธิ คนที่ภาวนาแล้วพลาด ก็เรื่องพวกนี้ทั้งนั้น ภาวนาแล้วเพี้ยนบ้างอะไรบ้าง ไม่ได้เรียนถึงบทเรียนที่ชื่อจิตตสิกขา ถ้าเรียนรู้จิตตัวเองไม่ได้ สมาธิที่ดีที่สมบูรณ์เกิดไม่ได้หรอก

ความเพียรชอบอาศัยสติ

ความเพียรชอบกับความเพียรอย่างที่เราคิดกันมันคนละเรื่องกัน ความเพียรชอบเพียรลดละกิเลสที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญให้มากขึ้น จะทำได้ก็อาศัยสติ ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย อย่างเรามีกิเลส เรามีสติปุ๊บ กิเลสดับทันทีเลย กิเลสที่มีอยู่ดับ ในขณะที่มีสติอยู่กิเลสใหม่ก็ไม่เกิด เห็นไหมเรามีสัมมาวายามะแล้ว หรือการที่เรามีสติขึ้นมา กุศลได้เกิดเรียบร้อยแล้ว แล้วถ้าสติของเราถี่ยิบขึ้นมา กุศลเราก็จะพัฒนาขึ้นไปเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ถึงจุดหนึ่งวิมุตติก็เกิดขึ้น

กตัญญูกับพระพุทธเจ้า

เราเป็นคนเราต้องรู้จักคำว่ากตัญญู บรรพบุรุษมีบุญคุณ คนไม่กตัญญูใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี เราอยากดูว่าคนไหนดีไม่ดี ดูว่าเขากตัญญูไหม ความกตัญญูกว้างขวาง กตัญญูต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ใหญ่โตขึ้นมาก็คือกว้างขึ้นมาก็คือ กตัญญูกับชาติบ้านเมือง แล้วเราเป็นชาวพุทธเราก็ต้องกตัญญูกับพระพุทธเจ้าด้วย การจะกตัญญูกับพระพุทธเจ้า คือเราต้องเป็นลูกที่เชื่อฟังท่าน อะไรที่ท่านห้ามอย่าทำ อะไรที่ท่านบอกว่าควรทำต้องทำ สิ่งที่ท่านห้ามเราก็คืออย่าทำชั่ว ตั้งอกตั้งใจรักษาศีลให้ดี ให้เราฝึกจิต ให้เราเจริญปัญญา

ลงมือปฏิบัติเสียแต่วันนี้

ธรรมะที่พระศรีอาริย์สอนกับที่พระพุทธโคดมสอนก็อันเดียวกัน ถ้ายุคนี้เหลวไหลก็สะสมนิสัยเหลวไหลไปจนถึงยุคข้างหน้า ไปเจอพระศรีอาริย์มันก็เหลวไหลต่อไปอีก มันผ่านพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก ก็ไม่หายเหลวไหล ถ้าเราไม่อยากเหลวไหล โอกาสที่จะเจอศาสนาพุทธจริงๆ หายากมาก วันเวลาที่มีพระพุทธศาสนาสั้นนิดเดียวเทียบกับเวลาที่ไม่มี เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถือว่าเราเป็นพวกมีบุญพอสมควร รีบมาต่อยอดตัวเองศึกษาปฏิบัติธรรมให้มาก จะศึกษาปฏิบัติธรรมต้องรู้ก่อนว่าเราปฎิบัติไปเพื่ออะไร ปฏิบัติธรรมะเพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์ เพื่อจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อความร่ำรวย

ทำอย่างไรจะพ้นจากทุกข์

เราจะปฏิบัติอันแรกเพื่อความพ้นทุกข์ ข้อสอง ต้องการพ้นทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ วิธีที่จะดับเหตุทำอย่างไร รู้ทุกข์ให้แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร สมุทัยก็เป็นอันถูกละอัตโนมัติ รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คือรู้อะไร อันที่หนึ่ง รู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรมนามธรรม ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราของเรานี้ล่ะ อันที่สอง รู้ลึกซึ้งลงไป รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบกันเป็นตัวเราของเรานี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงตรงนี้ได้ เราจะพ้นจากทุกข์ คือหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมนี้ ถ้าหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม ก็คือหลุดจากโลกแล้ว

สะสมคุณธรรมความดี

ภาวนา พยายามทำเข้า ลดละความชั่ว สร้างสรรค์ความดีให้ตัวเองไว้ มีโอกาสทำทานก็ทำ อย่าทำจนตัวเองลำบากเดือดร้อน ศีลรักษาให้เต็มที่ สมาธิต้องทำทุกวัน แบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบทุกวันๆ ปัญญาก็เรียนรู้ความจริงของโลกของชีวิตไป ถ้าอินทรีย์เรายังอ่อนเราลองมองทั่วๆ ไป สัตว์ที่เป็นทุกข์สัตว์ที่ลำบากเยอะแยะไปหมด เห็นแล้วใจก็เกิดเมตตากรุณาได้ แล้วก็ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ถ้ากำลังของเรามากขึ้น เราก็เรียนเข้ามาให้ถึงรูปนามกายใจของตัวเอง รู้ลงมาที่กาย รู้ลงมาที่ใจ แล้วจะเห็นความจริง ถึงสุดท้ายเราจะเห็น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ถ้าเห็นอย่างนั้นเรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็ละตัณหาได้ทันที นิโรธคือนิพพานก็ปรากฏขึ้นทันที อริยมรรคก็เกิดขึ้นในทันทีนั้น ฉะนั้นเราสะสมของเรา เดี๋ยววันหนึ่งเราก็ดี วันนี้ยังเลวอยู่ก็ลดละเสีย

ศีลจำเป็นสำหรับการภาวนา

การปฏิบัติ เราต้องให้ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ปัญญาต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไปๆ มีแล้วก็หายไป ไม่มีอะไรคงที่ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าศีลเราไม่ดี สมาธิเราก็พัง พอศีลไม่ดี ใจจะถูกกิเลสเย้า ยั่วยวน ชักจูงไป จิตก็ฟุ้งซ่าน สมาธิเราก็เสีย ไม่ตั้งมั่น แล้วถ้าเราไม่มีศีล เราไปเจริญปัญญา มันจะเป็นปัญญาแบบคนทุศีล ปัญญาแบบตามใจกิเลสปกป้องกิเลส เข้าข้างกิเลส เพราะฉะนั้นตั้งใจ ศีลไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทำแล้วมีอานิสงส์มาก เราจะได้ประโยชน์ในปัจจุบันได้ประโยชน์ในอนาคต ได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

สติทำให้เกิดสมาธิและปัญญา

ต้องฝึกสติให้ถูก ให้เป็นสัมมาสติจริงๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก หัดรู้สึกเรื่อยๆ อย่างจิตเราหลงไปคิด เรามีสติรู้ เฮ้ย หลงคิดแล้ว มีคำว่า “แล้ว” ด้วย เพราะเวลาที่จิตหลงคิด ไม่มีสติอยู่แล้ว สติมาเกิดทีหลัง ตรงที่จิตมันจำสภาวะหลงคิดได้ พอจิตมันหลงคิดไป แล้วจิตมันจำได้ เฮ้ย สภาวะอย่างนี้ จิตที่ไหลๆ ออกไปอย่างนี้ มันหลง นี่มันหลงไปคิดแล้ว จิตมันจำสภาวะได้ สติเกิดปั๊บขึ้นมา สภาวะหลงคิดดับทันทีเลย สภาวะตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นทันที มีสติที่ถูกต้องก็จะมีสมาธิที่ถูกต้อง นี่ล่ะถ้าเราเจริญสติ อันแรกที่เราได้คือสติ อันที่สอง สมาธิ อันที่สาม ของสำคัญคือเราจะได้ปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก

Page 1 of 64
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 64