อสุรกายเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เราไปดูถูกคนอื่น ดูถูกเทวดา พรหม หรือภูติผีปีศาจอะไร ท่านสอนให้เรามองเขาในฐานะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมทุกข์ คือยังทุกข์อยู่ด้วยกัน เหมือนเพื่อนเรายังลำบากมาก เราก็ยังพยายามไปเรียก ให้เขาช่วยโน่นช่วยนี่อีก มันไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดเลย อย่างพวกอสุรกายมันลำบากมาก เราก็จะไปไหว้ จะเอาตัวอะไรไปบูชายัญอะไรอย่างนี้ หวังจะให้ช่วยเรา มันยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเลิก ชาวพุทธเราต้องเลิกที่จะเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา

เราต้องเอาธรรมะเป็นที่พึ่ง เรียนรู้ธรรมะไป เข้าใจวิธีปฏิบัติแล้วลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม แค่ไหนสมควร ก็ปฏิบัติเต็มสติเต็มกำลังของเรานั่นล่ะ เรียกว่าปฏิบัติโดยสมควร ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะนั้นจะคุ้มครองเรา

วิธีฝึกสติปัฏฐาน

เราต้องพยายามฝึกตัวเอง มีวินัยในตัวเอง แล้วก็พยายามฝึกสติปัฏฐาน ทุกวันๆ ต้องฝึก วิธีฝึกสติปัฏฐานก็คือ ต้องมีฐานที่ตั้งของสติเสียก่อน ฐานที่จะทำให้เกิดสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้ให้แล้ว คือกาย เวทนา จิต ธรรม พวกเราต้องมีสติไว้ แต่สตินั้นเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้กาย ก็คือรู้สึกกายอย่างที่กายเป็น ระลึกรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น ระลึกรู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้อย่างที่มันเป็น ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ มีวิหารธรรมที่เราทำได้ ที่ทำไม่ไหวก็เว้นไปก่อน ไม่ต้องไปทำ อย่างดูกายก็ดูในส่วนที่ทำได้ ดูจิตก็ดูในส่วนที่ทำได้ แล้วดูเนืองๆ ดูเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในกายบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในจิตบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ แล้วสติมันจะเข้มแข็งขึ้น