รูปนามคือตัวทุกข์

แต่เดิมหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็คิดว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเราไม่ไปยึดไปถือ เราก็ไม่ทุกข์ด้วย มันทุกข์เพราะเราไปยึดขันธ์ 5 ถ้าเราไม่ยึดขันธ์ 5 เราก็ไม่ทุกข์ พอภาวนาละเอียดขึ้นไปพบว่าไม่ใช่ ที่คิดว่าใช่มันไม่ใช่เสียแล้ว เดิมคิดว่าขันธ์ 5 มันเป็นตัวกลางๆ แต่พอจิตเราเข้าไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตเลยทุกข์ พอภาวนาไปเรื่อยๆ ก็เห็นความจริง รูปนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ทุกข์โดยตัวของมันเอง เราจะเข้าไปยึดถือหรือไม่ยึดถือ รูปก็คือตัวทุกข์ นามธรรมก็คือจิตเรานี้ เราจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ จิตนั้นก็คือตัวทุกข์ พอรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปคือตัวทุกข์ จิตถึงจะปล่อยวางรูป เรียกรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ละสมุทัยได้

อนุสติ 10

กรรมฐานที่ไม่มีโทษไม่มีภัยแล้วก็ไม่ยากเกินไป
เรื่องของสมถกรรมฐาน คือเรื่องของอนุสติ อนุสติ 10 ข้อ
จะทำพุทธานุสติ ก็ต้องคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ก็คิดถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติก็คิดถึงคุณของพระสงฆ์
เทวตานุสติ ก็คิดถึงธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา

จาคานุสติ อย่างเราได้บริจาคทาน
ถ้าทำทานก็ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำด้วยเสียสละ ทำเพราะเห็นว่าสมควรจะทำ
สีลานุสติ นึกถึงศีลที่เราตั้งใจรักษามาดีแล้ว
มรณานุสติ คิดถึงความตายบ้าง คิดถึงความตายบ่อยๆ วันละหลายๆ รอบยิ่งดี
กายคตาสติ พิจารณาลงในร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ลงไปทีละส่วนๆ
อีกตัวหนึ่งคืออานาปานสติ
มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้าเรื่อยๆ ไป

อสุรกายเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เราไปดูถูกคนอื่น ดูถูกเทวดา พรหม หรือภูติผีปีศาจอะไร ท่านสอนให้เรามองเขาในฐานะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมทุกข์ คือยังทุกข์อยู่ด้วยกัน เหมือนเพื่อนเรายังลำบากมาก เราก็ยังพยายามไปเรียก ให้เขาช่วยโน่นช่วยนี่อีก มันไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดเลย อย่างพวกอสุรกายมันลำบากมาก เราก็จะไปไหว้ จะเอาตัวอะไรไปบูชายัญอะไรอย่างนี้ หวังจะให้ช่วยเรา มันยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเลิก ชาวพุทธเราต้องเลิกที่จะเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา

เราต้องเอาธรรมะเป็นที่พึ่ง เรียนรู้ธรรมะไป เข้าใจวิธีปฏิบัติแล้วลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม แค่ไหนสมควร ก็ปฏิบัติเต็มสติเต็มกำลังของเรานั่นล่ะ เรียกว่าปฏิบัติโดยสมควร ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะนั้นจะคุ้มครองเรา

อุบายฝึกจิตให้สงบ

สมถกรรมฐานเป็นอุบายฝึกจิตให้สงบ จิตจะสงบได้ต้องน้อมจิต ไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้ ธรรมะที่มากมายมหาศาล ในภาคของสมถะ หลวงพ่อรวบลงมาเหลือแค่นี้เอง “น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง” มันเป็นการน้อมจิตไป อย่างถ้าเรามีความสุขกับการหายใจ ทำอานาปานสติแล้วมีความสุข เราก็หายใจให้จิตจดจ่ออยู่กับการหายใจ แป๊บเดียวก็สงบแล้ว

หรือบางคนชำนาญในแสงสว่าง หลับตาลงก็กำหนดจิต มันก็สว่างขึ้นมาแล้ว มีความสุขอยู่กับแสงสว่าง ก็น้อมจิตไปอยู่กับแสงสว่างอย่างต่อเนื่อง แค่น้อมๆ ไป ไม่ได้บังคับ ถ้าบังคับไม่รอดหรอก อย่างเราจะหายใจจิตมันจะหนี เราบังคับมัน ต้องอยู่กับลมๆ อยู่ด้วยความไม่มีความสุข อยู่อย่างไม่มีความสุข ทำอย่างไรจิตก็ไม่สงบ เคล็ดลับมันอยู่ที่ว่า “ต้องมีความสุข” ใช้จิตใจธรรมดาๆ จิตใจสบายๆ ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วสบาย แล้วก็รู้ไปแบบสบายๆ มี 3 สบาย ใช้จิตใจธรรมดา จิตใจสบายๆ นี้ ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วสบาย แล้วก็รู้ไปอย่างสบายๆ ไม่ได้รู้แล้วก็พยายามบังคับจิตให้สงบ ถ้าเราทำ 3 สบายนี้ได้ สงบทันทีเลย ทำเมื่อไรก็ทำได้ ไม่ยากอะไรหรอก ให้มันได้เคล็ดลับตรงนี้ไป

ดับทุกข์ที่ตัวเหตุ

ชาวพุทธเราเอาชนะความอยากด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านมองลงไปต่อว่าความอยากมันมาจากอะไร หลักของเราชาวพุทธ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะมองไปว่า ต้นตอ ต้นเหตุของปัญหาคืออะไร แล้วเราก็ไปแก้ที่ต้นเหตุ นี่เป็นวิธีการของชาวพุทธ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นมาเป็นผล มันก็ต้องมีเหตุ ชาวพุทธเราเวลามีปัญหา เราจะมองไปที่ต้นเหตุของปัญหา อะไรเป็นเหตุ แล้วไปแก้ที่เหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นก็ดับ นี่เป็นธรรมะสำคัญ พื้นฐานเลยของเราชาวพุทธ การที่จะดับผล เราดับที่ตัวผลไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็สอนอะไรเป็นเหตุของมัน แล้วก็สอนความดับ คือดับเหตุของมันนั่นล่ะ ถ้าเราดับเหตุของทุกข์ได้ ความทุกข์มันก็ดับ ฉะนั้นเราต้องดับที่ตัวเหตุ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้า

ศีล 5 มีประโยชน์มาก

ความชั่วแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ อะไรก็อย่าทำ ศีล 5 รักษาเอาไว้ อย่างน้อยเราไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง เป็นความชั่ว ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ละเว้นการทำชั่ว การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยร่างกาย ไปฆ่าเขา ไปขโมยเขา เป็นชู้เขา ข้อ 4 เราไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยวาจา รวมแก๊งรวมก๊วนไปด่าคนโน้นด่าคนนี้ก็กรรม ส่วนข้อ 5 ไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเอง ไม่เสพสิ่งเสพติด ศีล 5 มีประโยชน์มาก อย่างน้อยเราก็ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง ใจที่ไม่เบียดเบียนใจมันร่มเย็น สมาธิมันก็เกิดง่าย สมาธิไม่ใช่แปลว่าสงบ มันเป็นภาวะที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้ามีสมาธิมากพอ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ต้องจงใจทำขึ้นมา ไม่ต้องรักษา มันเป็นอัตโนมัติ สติก็อัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ ปัญญาสุดท้ายก็อัตโนมัติ