คอยวัดใจตัวเองไว้

คอยวัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ ใจเรามีแต่ความเปลี่ยนแปลง ไม่มีความคงที่ แล้วไม่ต้องไปฝึกให้ใจคงที่ ใจจริงๆ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ไม่ว่ามัน ให้มันเคลื่อนไหวไป ขอแค่มีสติตามรู้ตามเห็น แล้วต่อไปปัญญามันเกิด จะรู้เลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับ ทีแรกก็เห็นแต่ละอย่างเกิดแล้วดับ แต่ละอย่างเกิดแล้วดับ ตอนที่จะได้มรรคได้ผล มีปัญญารวบยอด จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ไม่ใช่จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วดับ เหมือนที่ตอนที่ฝึกหรอก มันรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดมันดับทั้งสิ้น ค่อยๆ ฝึก วัดใจตัวเองให้ออก แล้วเราจะได้ของดีของวิเศษ ของดีของวิเศษไปขอใครไม่ได้ ต้องทำเอาเอง

ตั้งเป้าให้ถูก

เราทำวิปัสสนาไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้ ทำวิปัสสนาเพื่อจะฉลาดรอบรู้ ธรรมะมากมาย จะได้เอาไปคุยอวดคนอื่น นั่นทำไปเพื่ออกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำทาน รักษาศีล เจริญปัญญา ทำทาน รักษาศีล ทำความสงบและเจริญปัญญา ก็ต้องลดละอกุศล เจริญกุศล ตั้งเป้าไว้ให้ถูก ถ้าเราภาวนาอย่างนี้จิตเราจะเดินเข้าสู่วิสุทธิ วิสุทธิเป็นองค์ธรรมที่ดี แต่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศลทั้งนั้น ค่อยๆ ฝึก ถ้าเราภาวนาแล้วยังไม่ได้มุ่งไปที่ลดกิเลสตัวเอง ไม่ได้มุ่งไปที่เจริญกุศล ยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ยังนอกรีตนอกรอยอยู่ ถ้าทำไปเพื่อละอกุศลเพื่อเจริญกุศล อันนั้นเข้าสู่ทางแห่งความบริสุทธิ์แล้ว จิตจะเดินไปในวิสุทธิทั้ง 7

อสุรกายเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เราไปดูถูกคนอื่น ดูถูกเทวดา พรหม หรือภูติผีปีศาจอะไร ท่านสอนให้เรามองเขาในฐานะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมทุกข์ คือยังทุกข์อยู่ด้วยกัน เหมือนเพื่อนเรายังลำบากมาก เราก็ยังพยายามไปเรียก ให้เขาช่วยโน่นช่วยนี่อีก มันไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดเลย อย่างพวกอสุรกายมันลำบากมาก เราก็จะไปไหว้ จะเอาตัวอะไรไปบูชายัญอะไรอย่างนี้ หวังจะให้ช่วยเรา มันยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเลิก ชาวพุทธเราต้องเลิกที่จะเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา

เราต้องเอาธรรมะเป็นที่พึ่ง เรียนรู้ธรรมะไป เข้าใจวิธีปฏิบัติแล้วลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม แค่ไหนสมควร ก็ปฏิบัติเต็มสติเต็มกำลังของเรานั่นล่ะ เรียกว่าปฏิบัติโดยสมควร ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะนั้นจะคุ้มครองเรา

สติปัฏฐาน

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการที่เรามีความเพียร คอยระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ ระลึกรู้จิตที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ระลึกรู้สภาวธรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง เป็นนามธรรมบ้าง แล้วก็สูงสุดเลย ก็คือเรียนรู้กระบวนการของจิต ที่สร้างความทุกข์ขึ้นมาแผดเผาตัวเอง อันนั้นก็คืออริยสัจ หรือปฏิจจสมุปบาท

ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

เรามีงานที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องทำ เราผ่านความยากลำบากมามากมายแล้ว จนกระทั่งได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศรัทธา ได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ ได้ฟังธรรม ทำชิ้นสุดท้ายของเราให้ดี ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม อย่างที่ว่ามาทั้งวันตั้งแต่เช้านี้ ฟังไม่ทันก็ไปดู YouTube เอา สักประเดี๋ยวเขาก็จะเอาไปขึ้นให้ฟังแล้ว ฟังแล้วฟังอีก ปกติสิ่งที่หลวงพ่อสอนแต่ละครั้ง เกือบทั้งหมด ธรรมะแต่ละกัณฑ์เกือบๆ ทุกๆ กัณฑ์ เกือบ ไม่ทั้งหมดหรอก กัณฑ์เดียวเรื่องเดียว พอจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสิ่งที่สอนไม่ได้มีการเก็บออม ซ่อนเร้น เคล็ดวิชาชั้นสูงเอาไว้ ไม่ได้ซ่อนไว้ ให้หมดแล้ว อยู่ที่เรารับได้แค่ไหนต่างหาก ไปทำเอา ชีวิตจะได้ร่มเย็นเป็นสุข

ท่องเที่ยวอยู่ในกายในใจ

อาศัยช่วงของโควิดเราออกไปเที่ยวไม่ได้ ถ้าเราชำนาญในการพิจารณาร่างกาย เราก็เที่ยวอยู่ในร่างกาย ไม่ให้จิตหนีออกจากกาย ถ้าจิตเที่ยวอยู่ในร่างกายนี้ คอยรู้สึกอยู่ในกายนี้ กิเลสชั่วหยาบทั้งหลายเกิดไม่ได้ มันมีสติเที่ยวอยู่ในกาย แล้วถ้าปัญญามันเกิดมันจะเห็นว่ากายนี้ว่างเปล่า กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูจิตดูใจ เห็นจิตเที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็นจิตสร้างภพน้อยภพใหญ่ทางใจ เห็นแต่ทุกข์ ภาวนาแล้วก็จะรู้แจ้งแทงตลอด ความเกิดมีขึ้นครั้งใด ความทุกข์มีขึ้นเมื่อนั้น เกิดดี เกิดเลว หมุนเวียนอยู่ในจิตเรานี่ล่ะ เห็นอย่างนี้ต่อไปจิตมันก็รู้ว่า ภพทั้งหลายเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้