รู้ทุกข์จะละสมุทัย

ตรงที่เราสามารถเห็นทุกข์ของกาย กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราเห็นทุกข์ของจิต ว่าจิตมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย อันนี้เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้นของจิตเอง เส้นทางเดินนี้ไม่มีอะไรมาก รู้ทุกข์ไว้ คำว่าทุกข์ก็คือ รูปนามขันธ์ 5 ที่เรามีอยู่นี่ล่ะ คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกไปจนปัญญามันแก่รอบ กายนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้เรียกว่าเรารู้ทุกข์แล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์ สมุทัยคือความอยากก็จะหมดไปทันที ถูกทำลายในขณะที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ

ธัมมวิจยะ

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ มันคือเหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้วอยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา
นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา