วิธีปลดปล่อยใจให้พ้นจากอาสวะ

วิธีที่เราจะปลดปล่อยใจของเราให้พ้นจากอาสวกิเลสได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ภาวนาไป เจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ จนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงที่ไม่ถือมั่น เพราะฉะนั้นคำว่าไม่ถือมั่น ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น มันจะเป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 ในกายในใจของเราได้ โดยเฉพาะไม่ยึดมั่นในจิตได้ เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็คือการที่เราเห็นความจริงของจิตใจตัวเอง เราเห็นขันธ์ 5 ทั้งกายทั้งใจ ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าเห็นความจริง เพราะเห็นความจริงก็จะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้น ตรงที่หลุดพ้นก็คือ จิตมันหมดความยึดถือในร่างกาย หมดความยึดถือในจิตใจ ทันทีที่จิตมันรู้แจ้งแทงตลอดตัวนี้ มันหมดความยึดถือ

ฆราวาสธรรม

นักปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ทิ้งงาน มีงานต้องทำ มีหน้าที่ต้องทำแล้วก็ทิ้ง กะว่าจะปฏิบัติ พอถึงเวลาปฏิบัติ บางคนอยากปฏิบัติต้องไปอยู่วัด ทิ้งงานไปอยู่วัด พอไปอยู่ที่วัดก็คิดถึงงาน เอาดีไม่ได้สักที่หนึ่งเลย งานทางโลกก็ไม่ได้เรื่อง งานทางธรรมก็ไม่ได้เรื่อง เป็นฆราวาสต้องปฏิบัติให้ได้ ไม่ใช่จะมารอออกมาบวชแล้วถึงจะปฏิบัติ ถ้าคิดอย่างนั้นยังต่ำต้อยมากเลย เรียกต่ำต้อยไม่ถูก ต้องเรียกต่ำตม อยู่ใต้ตมเลย ไม่ใช่บัวพ้นน้ำ เป็นบัวต่ำตม ฉะนั้นแยกให้ออก มีหน้าที่ทางโลกอะไรบ้าง หน้าที่ทำมาหากิน หน้าที่ดูแลครอบครัว หน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ เลี้ยงดูลูก เลี้ยงดูบุตร ภรรยา สามี หน้าที่มี หน้าที่ต่อหน่วยงาน อยู่ที่หน่วยงาน ต้องทำงาน ภักดีต่อองค์กร เลือกงานๆ ที่มันไม่สกปรก แล้วก็ทำหน้าที่ของเราในทางโลกให้เต็มที่ แล้วเวลาในทางธรรม งานทางโลก ถ้าเป็นงานสุจริต จะไม่เบียดบังการปฏิบัติของเราหรอก
ภาวนาไป เราเป็นฆราวาส อย่าทิ้งทั้งทางโลกทั้งทางธรรม เราถึงจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ถ้ามีแต่ทางโลก มันก็เหมือนคนศาสนาอื่น ไม่แปลกอะไร จะเอาแต่ทางธรรม ก็เรียกคนไม่รู้จักหน้าที่

รู้ทุกข์จะละสมุทัย

ตรงที่เราสามารถเห็นทุกข์ของกาย กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราเห็นทุกข์ของจิต ว่าจิตมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย อันนี้เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้นของจิตเอง เส้นทางเดินนี้ไม่มีอะไรมาก รู้ทุกข์ไว้ คำว่าทุกข์ก็คือ รูปนามขันธ์ 5 ที่เรามีอยู่นี่ล่ะ คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกไปจนปัญญามันแก่รอบ กายนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้เรียกว่าเรารู้ทุกข์แล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์ สมุทัยคือความอยากก็จะหมดไปทันที ถูกทำลายในขณะที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ

ฝึกจนเป็นอัตโนมัติ

โลภเจตนา อย่างเราถือศีล มีความโลภซ่อนอยู่ อยากได้เป็นคนดี อยากเป็นเทวดา ทำสมาธิก็มีความโลภซ่อนอยู่ อยากมีฤทธิ์มีเดช อยากไปเป็นพระพรหม เจริญปัญญาก็อยากรอบรู้ อยากแตกฉาน อย่างนี้กิเลสแทรกอยู่ ถ้ากิเลสแทรกอยู่ จิตใจก็ยังจะดิ้นรน สร้างภพสร้างชาติต่อไป แต่ถ้าเราภาวนาจนกระทั่งศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น ตรงนี้เราไม่มีเจตนา ไม่มีความโลภ เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะตัวนี้ จิตก็จะไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่งต่อ จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น

ปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน ยังฟุ้งซ่านบ่อย เคยเห็นจิตวิ่งไปดูมือแต่เป็นเหมือนมือคนแก่

เราภาวนา ไม่ได้มุ่งไปสร้างภพสร้างชาติอะไรขึ้นมาอีก ถ้าภาวนาแล้วเราไปสร้างภพ แสดงว่าไปด้วยตัณหาแล้ว ถ้าเราไปด้วยฉันทะ เราพอใจที่จะปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอน เราพึงพอใจได้นั่งสมาธิ เดินจงกรม ได้ทำทาน ได้รักษาศีล ได้แยกรูปแยกนาม พระพุทธเจ้าสอนไว้เราทำตามด้วยความพอใจ ได้ปฏิบัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ใช่เพื่อเอาอะไรทั้งสิ้น ถ้าปฏิบัติเพื่อเอาคือตัณหา ปฏิบัติเพื่อจะลดละ ปล่อยวาง คือตัวฉันทะ ฉะนั้นเราสังเกตใจตัวเราเองไปเรื่อยๆ ภาวนาไป เรียนรู้มันไป