ปฏิจจสมุปบาท

ในปฏิจจสมุปบาทนั้นจะมีสภาวธรรม 3 ลักษณะ อันแรกเป็นส่วนของกิเลส ต่อมาเป็นส่วนของกรรม คือพฤติกรรมของจิตนั่นล่ะ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นตัววิบาก เป็นผล มีกิเลส มีกรรม มีวิบาก ในปฏิจจสมุปบาทนั้น ก็คือวนเวียนอยู่ในเรื่องเหล่านี้ ลึกที่สุดอะไรเป็นกิเลส อวิชชาเป็นกิเลส อวิชชาเป็นหัวโจก เป็นหัวหน้าของกิเลส คือความไม่รู้แจ้งอริยสัจเป็นหัวโจก แล้วอวิชชาก็ทำให้ผลักดัน มันเป็นกิเลส ก็ผลักดันให้เกิดการกระทำกรรม การกระทำกรรมตัวนี้เรียกว่าสังขาร

“อวิชชา ปัจจยา สังขารา” อวิชชาเป็นปัจจัยของสังขาร สังขารเป็นการกระทำกรรมของจิตแล้ว เพราะมีสังขารก็เกิดวิบาก มีการกระทำกรรมแล้วก็เกิดวิบาก อะไรบ้างที่เป็นวิบาก ตัวจิต ตัววิญญาณ ที่หยั่งลงสู่ความรับรู้อารมณ์เป็นวิบาก ตัวอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นวิบาก ตัวผัสสะ การกระทบอารมณ์เป็นวิบาก เราเลือกไม่ได้ว่าจะกระทบอารมณ์ดี หรืออารมณ์ไม่ดี ถ้าอกุศลวิบากให้ผลมา เรากระทบอารมณ์ไม่ดี กุศลวิบากให้ผลมา เราก็กระทบอารมณ์ดี มันเป็นวิบาก ผัสสะเป็นวิบาก ถัดจากนั้นก็เกิดเวทนาขึ้นอัตโนมัติ เวทนาก็เป็นวิบาก

พ้นทุกข์ด้วยอริยสัจ 4

เวลาเราภาวนา ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ต้องพัฒนาสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ เราก็ต้องพัฒนาสัมมาสมาธิ หรือเราไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง เรียกว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็ต้องศึกษา ศึกษาจากพระไตรปิฎกจากอะไรนี่ ให้ได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น เป็นทฤษฎีชี้นำว่าเราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ฉะนั้นไม่ว่าเราจะแก้ปัญหาทางโลก หรือเราจะแก้ปัญหาทุกข์ทางจิตใจของเรา หลักมันก็ตรงกันนั่นล่ะ เพราะสัจจะความจริงก็ต้องเป็นความจริงในทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะในวัด ไปแก้ปัญหาชีวิตจริงทำไม่ได้ อันนั้นด้อยเกินไป ศาสนาพุทธไม่ได้ด้อยอย่างนั้น ที่หลวงพ่อสอนพวกเราซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็สอนอยู่ในเรื่องของอริยสัจนั่นเอง