กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

พระพุทธเจ้าให้รู้ทุกข์

คำสอนของพระพุทธเจ้าจะอยู่ในกฎของคำว่า ให้รู้ทุกข์ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้ไปเรื่อยๆ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน คอยรู้สึกตัวไว้ ร่างกายที่ทำไมต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจเข้า ต้องหายใจออก ทำไมมันต้องกินข้าว ทำไมมันต้องขับถ่าย ทำไมมันต้องดื่มน้ำ ทำไมต้องปัสสาวะ เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์ ไม่ใช่ของวิเศษหรอก เราอาศัยมันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยึดถือ เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจ

รู้ว่ากายใจเป็นทุกข์จึงหมดความยึดมั่น

ถ้ามีสติอยู่กับร่างกาย รู้สึกไป ไม่นานเราก็จะเห็นความทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ มีสติรู้สึกจิตไปเรื่อยๆ ไม่นานเราก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น เรายึดกายมากเพราะเราเห็นว่ากายเป็นตัวสุข เป็นตัวดี พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ความรักใคร่หวงแหนในร่างกาย ก็จะลดลงจนกระทั่งวันหนึ่งมันไม่ยึดถือในร่างกาย ต่อไปก็ดูจิตใจไป เห็นจิตใจเป็นตัวทุกข์ เรียกรู้ทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนในจิตใจ ก็วางตรงที่วางนั่นล่ะคือตัวนิโรธ ปล่อยวางได้

พ้นทุกข์ด้วยอริยสัจ 4

เวลาเราภาวนา ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ต้องพัฒนาสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ เราก็ต้องพัฒนาสัมมาสมาธิ หรือเราไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง เรียกว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็ต้องศึกษา ศึกษาจากพระไตรปิฎกจากอะไรนี่ ให้ได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น เป็นทฤษฎีชี้นำว่าเราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ฉะนั้นไม่ว่าเราจะแก้ปัญหาทางโลก หรือเราจะแก้ปัญหาทุกข์ทางจิตใจของเรา หลักมันก็ตรงกันนั่นล่ะ เพราะสัจจะความจริงก็ต้องเป็นความจริงในทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะในวัด ไปแก้ปัญหาชีวิตจริงทำไม่ได้ อันนั้นด้อยเกินไป ศาสนาพุทธไม่ได้ด้อยอย่างนั้น ที่หลวงพ่อสอนพวกเราซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็สอนอยู่ในเรื่องของอริยสัจนั่นเอง

ภาวนารู้สภาวะ เห็นความคิดก็ยังแฝงด้วยกิเลส แต่ในใจนั้นมีความเฉยๆ กลับไม่ทุกข์

ผมภาวนาในรูปแบบด้วยการเดินจงกรม สวดมนต์เป็นประจำและนั่งสมาธิภาวนาเป็นบางครั้ง การเดินมีเวทนามากทำให้เดินได้น้อยลง การภาวนาระหว่างวันใช้ภาวนาพุทโธเป็นหลัก เห็นจิตหลงไปคิดบ่อยๆ บางครั้งเห็นความคิดลอยมาเอง แวบเดียว และในความคิดเหล่านั้นก็ยังแฝงด้วยกิเลส แต่ภาวะภายในใจนั้นมีความเฉยๆ กลับไม่ทุกข์ ไม่ทราบว่าที่ภาวนาอยู่มีข้อผิดพลาดประการใดครับ

 

หลวงพ่อ:

เวลาที่เรารู้สภาวะแล้วไม่ทุกข์นี่มีหลายแบบ อันหนึ่งจิตตั้งมั่นเป็นกลางจริงๆ เห็นทุกอย่างมาแล้วก็ไป ใจไม่ทุกข์ อีกอย่างหนึ่งคือใจมันซื่อบื้อ ใจมันเฉยๆ มันไปค้างอยู่ในอารมณ์เฉยๆ อย่าให้ค้างอยู่ในความเฉยๆ อย่างขณะนี้จิตมันนิ่งๆ อยู่ในความเฉยๆ รู้สึกไหม นี่ถ้าเราเห็น เราทำอย่างนี้ คนด่าเรา เราก็เฉยๆ เกิดอะไรขึ้น เราก็เฉยๆ เราไปทำจิตให้มันเฉยๆ อย่าไปบังคับจิตให้มันนิ่ง ให้จิตมันเคลื่อน ให้มันเป็นธรรมชาติจริงๆ

ฉะนั้นถ้าเราประคองจิตไว้อย่างนี้ มันเฉยๆ ตรงที่เราแต่งจิตขึ้นมาให้เฉยๆ ตรงนี้บางทีมันเกิดจากการหนีทุกข์ ชีวิตอาจจะทุกข์เยอะแล้วก็มาแต่งให้มันเฉยๆ อย่างนี้ รู้สึกว่ามันไม่ทุกข์ดี มันเฉยๆ มันไม่ทุกข์ สู้มัน ถอยออกมา พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้เราหนีทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่ตะบี้ตะบันรู้ บางช่วงเราเหนื่อยเกินไป เราก็พักผ่อน ไหว้พระสวดมนต์อะไรต่ออะไรไป นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้จิตผ่อนคลาย ไม่ใช่เพื่อหนีทุกข์ ฝึกไปอยู่เฉยๆ ทั้งวัน ถอยออกมา กลับมาอยู่กับโลกนี้ พอเราพักผ่อน สงบ พักผ่อนพอแล้ว เรากลับเข้ามารู้กายรู้ใจ แล้วก็เดินปัญญาต่อ อย่างนี้เราจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่หนีทุกข์

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564