รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิต

ความรู้สึกเปลี่ยนจากการกระทบอารมณ์ แล้วมีการให้ค่า กระทบเฉยๆ ยังไม่เท่าไร กระทบแล้วมันมีการให้ค่า เป็นธรรมชาติก็ต้องมีการตีความ อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แล้วจิตก็จะปรุงต่อ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงตามหลังการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ เป็นอารมณ์ข้างนอก กระทบแล้วจิตมีความเปลี่ยนแปลง ตีค่า แล้วก็เกิดยินดียินร้าย เกิดพอใจไม่พอใจขึ้นมา แต่ว่าการกระทบอารมณ์มันมีอีกแบบหนึ่ง คือกระทบด้วยใจโดยตรง ไม่ได้กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่กระทบด้วยจิตโดยตรงก็มี อย่างเวลาเรานั่งอยู่ดีๆ เราไปนึกถึงคนที่เราเกลียด พอนึกถึงปุ๊บโทสะขึ้นเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจิตเปลี่ยนแปลง เราก็รู้ทัน มีการกระทบทางใจขึ้นโดยตรง ไม่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็เกิดการความเปลี่ยนแปลง ให้เรามีสติรู้ทัน ใจมันปรุงต่อ ให้เราตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป

รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5

ถ้าเรารู้ลงไป กิเลสเกิดหรือกุศลเกิดก็ตามเถอะ หรือร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ รู้สึก สุข ทุกข์เกิด รู้สึก ดี ชั่วเกิด รู้สึก ถ้าเรามีสติรู้ทัน มันจะไม่ปรุงตัณหาขึ้นมาหรอก เมื่อไม่ปรุงความอยากขึ้น ตามอำนาจของกิเลส จิตใจก็จะไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราก็พ้นจากความปรุงแต่ง บางทีพ้นชั่วคราว ถ้าอย่างเรายังทำอยู่อย่างนี้ ก็พ้นชั่วคราว แต่มันจะพ้นถาวรได้ ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5 ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ขันธ์ 5 ทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตัณหาจะไม่เกิดอีก ความปรุงของจิตจะไม่มี จิตก็จะพ้นจากความปรุงแต่งไป

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

กรรมวาที กิริยวาที วิริยวาที

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเรียก กรรมวาที เน้นย้ำเรื่องกรรม การกระทำก็มีผลเป็นกิริยวาที เป็น วิริยวาที วิริยวาทีก็คือต้องมีความเพียร ต้องมีความเพียรต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความไม่รู้ของเรา
รู้ ต่อสู้ความอยาก ก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ต้องเจริญขึ้นมา เพียร เพียรลดละอกุศลทั้งหลายที่เรามีอยู่ เพียรเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ต้องมีความเพียร ต้องอดทน แล้วต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ชาวพุทธถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมกับเรื่องผลของกรรม ก็เป็นชาวพุทธไม่ได้ ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม “เราทำกรรมอันใดไว้จะเป็นบุญหรือเป็นบาป เราก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป” จะเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอะไรที่งมงายไม่ใช่ชาวพุทธหรอก

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องใหญ่

เราชาวพุทธ ขั้นต่ำสุดต้องรักษาศีลให้ได้ เอะอะจะเจริญปัญญา แต่ศีลไม่มีสมาธิมันก็ไม่มี สมาธิไม่มีปัญญามันก็ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเรียน ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติอะไรบ้าง ปฏิบัติศีล ต้องตั้งใจรักษา แล้วก็ต้องปฏิบัติสมาธิ สมาธิมี 2 อย่าง สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว กับสมาธิที่จิตตั้งมั่นเห็นสภาวะทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ รูปธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ นามธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ ต้องเห็น อันนี้สมาธิชนิดตั้งมั่นจะทำให้เราเห็น สมาธิสงบก็ไม่มีการเห็นอะไร ก็นิ่งๆ อยู่เฉยๆ มันก็มี 2 อย่าง แต่ก็มีประโยชน์ทั้ง 2 อย่าง มีสมาธิชนิดตั้งมั่นแล้วเจริญปัญญารวดไปเลย จิตจะหมดแรง ถ้าจิตจะหมดกำลัง วิปัสสนูปกิเลสจะแทรก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสมาธิชนิดสงบด้วย แบ่งเวลาไว้เลยทุกวันๆ ต้องทำในรูปแบบ จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรมอะไรก็ได้ ทำไปแล้วก็ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ถัดจากนั้นเราก็ทำกรรมฐานอย่างเดิมล่ะ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ เรามุ่งไปที่จิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไป เรารู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปเพ่งลมหายใจ เรารู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันสภาวะ ที่จริงสภาวะอะไรก็ได้ สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แล้วต่อไปปัญญามันก็ตามมา มันจะเห็นจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางตาก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางหูก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่เที่ยงอะไรอย่างนี้ เห็น หรือจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ก็เป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตที่จะไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย คิดนึกทางใจ ก็ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ นี่เห็นอนัตตา

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

เราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่นั่นล่ะ จะเห็นทุกข์ก็ต้องดูกาย มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือมีสมาธิที่ดี ตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่เรื่องของสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่ ปัญญามันถึงจะเกิด มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อจะมีปัญญา มีปัญญาเพื่อจะได้เห็นทุกข์ แล้วจิตมันถึงจะปล่อยวางของมันเอง