หลักการปฏิบัติ

ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน

การเจริญสติปัฏฐาน

สติเป็นตัวรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจเรา ฉะนั้นสติที่รู้กายรู้ใจ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติอย่างอื่นไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน เขาเรียกว่าเป็นสติเฉยๆ ไม่ใช่สัมมาสติ สิ่งที่เป็นสัมมาสติ คือสติปัฏฐาน จำไว้เลย พระพุทธเจ้าบอกเลยว่าสัมมาสติ อธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4 ก็คือให้เราคอยรู้สึกกายในกายเนืองๆ รู้สึกเวทนาในเวทนาเนืองๆ รู้สึกจิตในจิตเนืองๆ รู้สึกธรรมในธรรมเนืองๆ

การสุ่มตัวอย่างมาเรียน

การที่เราจะเจริญสติปัฏฐานจะด้วยกาย เวทนา จิต หรือธรรม อันใดอันหนึ่ง ก็ทำไปเพื่อให้เกิดสติบ่อยๆ สติปัฏฐานนั้นมีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง มี 2 ระดับ เบื้องต้นทำไปเพื่อความมีสติ เบื้องปลายทำไปเพื่อความมีปัญญา หมายถึงเราไม่ต้องเรียนกายทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนเวทนาทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนจิตทั้งหมด ไม่ต้องเรียนธรรมะทั้งหมด เราเรียนบางอย่างบางข้อ ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นแล้ว เราจะเข้าใจธรรมะทั้งหมด เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน ไม่ได้ผิดอะไรกับการทำงานวิจัยภาคสนามเลย การที่พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน สอนไม่ได้แตกต่างกับหลักที่หลวงพ่อบอกเลย สุ่มตัวอย่างมาเรียน ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เรียนแล้วจะเข้าใจทั้งหมด แล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้เราไปสุ่มส่งเดช ท่านกำหนดหัวข้อมาให้แล้ว