สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่จะล้างอาสวกิเลสทั้งหลายได้ ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้ ก็หลงทั้งวัน มันก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งวัน หลงตลอดเวลา โมหะเอาไปกินเอาไปครอบงำไว้ทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะใดสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ธรรมะที่เป็นไปเพื่อจะลดละกิเลส เพื่อจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

อนุสติ 10

กรรมฐานที่ไม่มีโทษไม่มีภัยแล้วก็ไม่ยากเกินไป
เรื่องของสมถกรรมฐาน คือเรื่องของอนุสติ อนุสติ 10 ข้อ
จะทำพุทธานุสติ ก็ต้องคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ก็คิดถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติก็คิดถึงคุณของพระสงฆ์
เทวตานุสติ ก็คิดถึงธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา

จาคานุสติ อย่างเราได้บริจาคทาน
ถ้าทำทานก็ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำด้วยเสียสละ ทำเพราะเห็นว่าสมควรจะทำ
สีลานุสติ นึกถึงศีลที่เราตั้งใจรักษามาดีแล้ว
มรณานุสติ คิดถึงความตายบ้าง คิดถึงความตายบ่อยๆ วันละหลายๆ รอบยิ่งดี
กายคตาสติ พิจารณาลงในร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ลงไปทีละส่วนๆ
อีกตัวหนึ่งคืออานาปานสติ
มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้าเรื่อยๆ ไป

ใช้อานาปานสติ มีลมหายใจเป็นวิหารธรรม มีความต้องการที่จะละสักกายทิฏฐิในชาตินี้ให้ได้

คำถาม: ภาวนาในรูปแบบ ใช้อานาปานสติ มีลมหายใจเป็นวิหารธร …

Read more

เดินทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน

คุณแม่ชีน้อยอยู่หินหมากเป้ง ท่านก็เคยพูดเรื่อยๆ บอก “คนหลายคนกินน้ำบ่อเดียวกัน เดินทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน” น้ำบ่อเดียวกันหมายถึงพระนิพพาน คนที่ปฏิบัติมุ่งไปที่เดียวกัน ไปพระนิพพาน เดินทางเดียวกันคือทางของเอกายนมรรค ทางของสติปัฏฐานนี่ล่ะ แต่ไม่เหยียบรอยกัน หมายถึงวิธีการปฏิบัติในรายละเอียดแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเจริญกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา สุดท้ายทุกคนจะมาลงที่ธัมมานุปัสสนาเหมือนกันหมด ลงมาตัดที่จิตนั่นเอง ก็รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ แทงตลอดปฏิจจสมุปบาทที่จิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเริ่มต้นในสิ่งที่เราทำไม่ได้

จะออกจากวัฏสงสารต้องเด็ดเดี่ยวอดทน

พยายามยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆๆ ไป อดทนๆ ไม่อดทนทำไม่ได้หรอก เส้นทางนี้ มันน่าเบื่อ ให้มันเด็ดเดี่ยวๆ อดทน ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นไร ล้มแล้วลุกขึ้นมา เดินต่อ ลงไปคลุกฝุ่น ลุกไม่ไหว เราคลานไป อย่าอยู่กับที่ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพ้นจากความทุกข์อันมหาศาล ค่อยทุกข์น้อยลงๆ อดทน จำเป็น ต้องอดทนอดกลั้น อย่าตามใจกิเลสตัวเอง ถ้าตามใจกิเลสตัวเอง มันมีแต่ต่ำลงๆ แล้วบางคนมันตามใจกิเลสตัวเอง แต่ว่ามันฉลาด มันแก้ตัวให้กิเลส หาเหตุผลว่าอันนี้ดีๆ อันนี้ต้องทำๆ เถลไถลไปเรื่อยๆ อันนั้นแก้ตัวให้กิเลส ลืมไปว่าชีวิตของคนไม่ได้ยั่งยืนอะไร คนที่อายุถึงร้อยปีมีสักกี่คน แล้วอายุมากๆ ร่างกายเสื่อม สมองเสื่อมอะไรอย่างนี้ มันภาวนาลำบาก ตอนที่ยังแข็งแรง รีบภาวนา เหมือนตอนที่แข็งแรงอยู่ รีบหาทางออกจากป่าให้ได้ ป่านี้ก็คือวัฏสงสารนั่นเอง มีเสี้ยนหนามอยู่รอบตัว ก็คือมีความทุกข์ตลอด หันซ้ายก็ทุกข์ หันขวาก็ทุกข์

ฆราวาสมีหน้าที่ทั้งทางโลกทางธรรม

เรายังเกิดมาได้ทันที่พระสัจธรรมยังดำรงอยู่ ขวนขวายพากเพียรปฏิบัติเข้า เป็นฆราวาสหน้าที่ทางโลกต้องทำ หน้าที่ทำมาหากิน เลี้ยงครอบครัว หน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม อย่างไปเลือกตั้งเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อชาติบ้านเมือง ส่วนหน้าที่ต่อตนเอง คือการปฏิบัติธรรม เรียกว่าทางโลกเราก็ต้องทำ ทางธรรมเราก็ต้องทำ พยายามฝึกตัวเองไป ชีวิตเราก็จะสะอาดหมดจด ด้วยอำนาจของศีล ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยปัญญา พอปัญญาคือความรู้ถูก ความเข้าใจถูกเกิดขึ้น มันจะทำลายกิเลสอย่างละเอียด

การเจริญสติปัฏฐาน

สติเป็นตัวรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจเรา ฉะนั้นสติที่รู้กายรู้ใจ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติอย่างอื่นไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน เขาเรียกว่าเป็นสติเฉยๆ ไม่ใช่สัมมาสติ สิ่งที่เป็นสัมมาสติ คือสติปัฏฐาน จำไว้เลย พระพุทธเจ้าบอกเลยว่าสัมมาสติ อธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4 ก็คือให้เราคอยรู้สึกกายในกายเนืองๆ รู้สึกเวทนาในเวทนาเนืองๆ รู้สึกจิตในจิตเนืองๆ รู้สึกธรรมในธรรมเนืองๆ

ฝึกให้จิตมีแรงแล้วเดินปัญญา

การฝึกจิตใจมันมี 2 ขั้นตอน ขั้นฝึกให้จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง กับฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกให้จิตสงบก็คือฝึกให้จิตมันรู้จักหยุดเสียบ้าง ธรรมดาจิตเราวิ่งพล่านๆ ทั้งวัน เดี๋ยววิ่งไปคิด เดี๋ยววิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย จิตมันวิ่งตลอดเวลา มันก็เหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง คล้ายๆ ร่างกาย วิ่งๆ ไปเรื่อยๆ ก็หมดแรง ก็ต้องพัก จิตก็ต้องพักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดกรรมฐาน ที่เรียกว่าสมถกรรมฐาน พอพักพอสมควรมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ต้องออกไปทำมาหากิน

ถ้าร่างกายพักพอสมควรมีแรงแล้ว ออกไปทำมาหากิน หาผลประโยชน์ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราพักพอสมควรแล้ว ออกไปทำประโยชน์ ออกไปเจริญปัญญา นั่นล่ะหาของดีมาให้จิตใจ ปัญญามันเป็นอาหารชั้นเลิศของใจ

ฝึกจิตเพื่ออนาคตที่สดใส

ไปฝึกเอาเพื่อชีวิตที่มีคุณค่า ชีวิตที่มีความสุข ชีวิตที่มีอนาคตที่แจ่มใส ถ้าเราไม่ได้ฝึกกรรมฐาน เราไม่มีชีวิตที่มีอนาคตที่แจ่มใส พวกเรามีความแก่รออยู่ข้างหน้า มีความเจ็บรออยู่ข้างหน้า มีความพลัดพรากรออยู่ข้างหน้า มีความตายรออยู่ข้างหน้า ฉะนั้นในโลกไม่มีชีวิตที่สดใสรออยู่ข้างหน้าหรอก แต่ในทางธรรมมี ฝึกจิตของตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยสมถะด้วยวิปัสสนานี่ล่ะ เรามีความสุขมีความสงบตั้งแต่ปัจจุบัน อนาคตก็มีความสุขความสงบสูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเรามีความสุขความสงบของพระนิพพาน

นิพพานเป็นความสงบอย่างยิ่ง นิพพานมีสันติลักษณะ มันสงบ นิพพานมีความสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง นั่นล่ะเรามีรางวัลใหญ่รอเราอยู่ข้างหน้าสำหรับชาวพุทธทั้งหลาย ฉะนั้นเราทำ ฝึกของเราทุกวันๆ อย่าทิ้งเวลาให้เปล่าประโยชน์ไป

สติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

กระบวนการทั้งหมดเบื้องต้นต้องตั้งใจฝึก เบื้องปลายทุกอย่างจะอัตโนมัติ เบื้องต้นเราฝึกสติ เราก็ตั้งใจฝึกไป มีกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปแล้วจิตหนีไป เรารู้ ไปเพ่งอะไร เรารู้ รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดี หรือดูตรงนี้ไม่ออก ก็เห็นร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้อะไรอย่างนี้ สติมันก็จะดีขึ้นๆ สติปัฏฐานทำให้สติเกิดในเบื้องต้น ทำให้ปัญญาเกิดในเบื้องปลาย ฉะนั้นเราทำสติปัฏฐาน รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปไม่เจตนาจะรู้มันรู้ได้เอง ตรงนี้อัตโนมัติแล้ว

Page 1 of 2
1 2