อารมณ์บัญญัติ – อารมณ์ปรมัตถ์

อารมณ์มี 2 ส่วน อารมณ์หนึ่งเป็นสภาวธรรม อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่สภาวธรรม เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ ไม่มีสภาวะรองรับ อย่างเรื่องราวที่เราคิดอาศัยความจำ เรื่องราวที่คิดขึ้นมาท่านเรียกอารมณ์บัญญัติ อารมณ์บัญญัติไม่จัดว่าเป็นสภาวธรรม อารมณ์ที่เป็นสภาวธรรมมันมี 3 อย่างคือรูปธรรม รูปที่จิตไปรู้เข้าเป็นอารมณ์ เรียกอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นอารมณ์จริงๆ เป็นของมีจริง มีไตรลักษณ์ เวลาดูที่จะเจริญปัญญา ต้องเห็นสภาวธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

ภาวนาตั้งแต่ตื่นจนหลับ

วันๆ หนึ่งเอาเวลาไปทิ้งเยอะแยะเลย แล้วบอกภาวนามาหลายปีแล้วไม่ได้ผล จริงๆ ภาวนาน้อยมากเลย ถ้าเราแทรกการปฏิบัติเข้าไปในการดำรงชีวิตได้ การภาวนาของเราเยอะแยะเลยวันๆ หนึ่ง คำว่าไม่มีเวลาภาวนาจะไม่มีหรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก “ถ้ามีเวลาหายใจ ก็มีเวลาปฏิบัติ” ถ้าไม่ได้หายใจแล้ว ตายไปแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติ ที่บอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัตินั่นมันข้ออ้าง ถ้าเรารวมการปฏิบัติเข้ากับการใช้ชีวิตจริงได้ มีเวลาตลอดเลย

อย่ามัวแต่รอถามครูบาอาจารย์

เวลาเราภาวนาแล้วเกิดข้อสงสัยขึ้นมา ไม่ต้องไปคิดมาก แขวนข้อสงสัยไว้ แล้วภาวนาของเราไปเรื่อยๆ มันจะรู้สักวันหนึ่ง จะนานเท่าไหร่ก็ช่างมัน เราก็ภาวนาของเราไป ถึงจุดหนึ่งมันก็เข้าใจขึ้นมา ตรงที่จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา ปัญญามันจะเกิด ฉะนั้นการภาวนาไม่ใช่การมานั่งถามครูบาอาจารย์ตลอดเวลา แต่ปฏิบัติไป ถ้าจิตมันมีสติ จิตมันมีสมาธิ แล้วปัญญามันเกิด มันตอบปัญหาได้เอง

สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก

สติปัฏฐานคือมีสติอยู่ในฐานกาย เวทนา จิต ธรรม ฐานใดฐานหนึ่ง ถ้าเมื่อไรไม่มีสติรู้กาย ไม่มีสติรู้ใจ เมื่อนั้นไม่ได้ทำสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบอกสติปัฏฐานเป็นเอกายนมรรค เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น จิตจะเข้าถึงความสิ้นตัณหาได้ต้องทำสติปัฏฐาน ไม่มีทางเลือกทางที่สอง

Page 2 of 2
1 2