กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ

พระพุทธเจ้าท่านเคยบอกว่า “กัลยาณมิตร เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค” เหมือนกับแสงเงินแสงทองตอนเช้ามืด ถ้าแสงเงินแสงทองขึ้นตรงไหน สว่างขึ้นด้านไหน เป็นเครื่องหมายแรกว่า พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นตรงนั้น การมีกัลยาณมิตรก็เป็นเครื่องหมายแรกของการบรรลุอริยมรรค ท่านสอนอย่างนี้ แล้วต่อมาท่านก็สอนอีก “โยนิโสมนสิการ เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค” เหมือนแสงเงินแสงทองขึ้นมา แล้วพระอาทิตย์จะขึ้นตรงนี้ ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการ ถึงวันหนึ่งอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น

ฉะนั้นใน 2 สิ่งนี้มีความสำคัญมาก คือกัลยาณมิตรกับโยนิโสมนสิการ แต่วันนี้พิสูจน์ยากว่าใครคือกัลยาณมิตร สิ่งที่หลวงพ่อแนะนำพวกเราคือโยนิโสมนสิการ ปลอดภัยที่สุด โยนิโสมนสิการบอกแล้วไม่ใช่การพิจารณา ใคร่ครวญเอาตามใจกิเลส ต้องดูว่ามันถูกหลักของการปฏิบัติหรือเปล่า

อยากเป็นพระโสดาบัน

อยากเป็นพระโสดาบัน ขั้นแรกเลยจิตต้องตั้งมั่นขึ้นมาก่อน พอจิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นกายนี้ถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนา มันก็เห็นเวทนาถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่น สติระลึกรู้สังขารทั้งหลาย ความดีชั่วทั้งหลายที่ปรุงขึ้นมา ก็จะเห็นสังขารทั้งหลายไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ เกิดจิตไม่ตั้งมั่น หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางทีมีจิตตั้งมั่น แล้วก็หลงไปเกิดราคะ มีความสุข บางทีจิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ หลงไป เกิดโทสะ มีความทุกข์ในใจ บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ จิตก็มีความสุขอยู่ทั้งๆ ที่ตั้งมั่น บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ แล้วก็เป็นอุเบกขาอยู่ก็มี

โยนิโสมนสิการสำคัญมาก

สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่ตรงนี้หลงอยู่หรือว่าปฏิบัติอยู่ ขั้นหยาบๆ เลย แล้วที่ปฏิบัติอยู่สมถะหรือวิปัสสนา สังเกตไป ตอนทำสมถะอยู่อันนี้นิมิตเกิดขึ้น เรายินดีในนิมิต หรือเราวางนิมิตย้อนเข้ามารู้ทันจิตตนเองได้ ถ้ายินดีในนิมิต นิมิตจริง นิมิตปลอมก็โง่เหมือนกัน หลงออกไปแล้ว ลืมจิตใจตัวเอง สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ หลวงพ่อสู้มาทุกวันนี้ ตั้งแต่เป็นโยม ใช้ความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการมาก ในชีวิตหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเคยถามกรรมฐานจากครูบาอาจารย์ทั้งหมด 7 ครั้ง จากครูบาอาจารย์ 6 องค์ ที่ถามมีแค่นั้นเองนอกนั้นสังเกตเอา อย่างภาวนาไปช่วงนี้ เกิดสภาวะอย่างนี้มันใช่มันไม่ใช่ หลวงพ่อสังเกตไปเรื่อย ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมัน ค่อยรู้ค่อยดูไป เกิดความเข้าใจขึ้นมาแล้ว มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น จะเข้าใจก่อนที่จะเจอครูบาอาจารย์ แล้วก็ไปเล่าให้ท่านฟัง บอก “ผมดูแล้วมันเป็นอย่างนี้ๆ มันคืออย่างนี้” ท่านบอก “ใช่แล้ว ถูกแล้ว” ท่านจะชมว่าฉลาด ฉลาด ช่วยตัวเองมาได้ ถ้าเอะอะวิ่งถามครูบาอาจารย์ตลอด ไม่ฉลาดหรอก

อารมณ์บัญญัติ – อารมณ์ปรมัตถ์

อารมณ์มี 2 ส่วน อารมณ์หนึ่งเป็นสภาวธรรม อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่สภาวธรรม เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ ไม่มีสภาวะรองรับ อย่างเรื่องราวที่เราคิดอาศัยความจำ เรื่องราวที่คิดขึ้นมาท่านเรียกอารมณ์บัญญัติ อารมณ์บัญญัติไม่จัดว่าเป็นสภาวธรรม อารมณ์ที่เป็นสภาวธรรมมันมี 3 อย่างคือรูปธรรม รูปที่จิตไปรู้เข้าเป็นอารมณ์ เรียกอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นอารมณ์จริงๆ เป็นของมีจริง มีไตรลักษณ์ เวลาดูที่จะเจริญปัญญา ต้องเห็นสภาวธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

ภาวนาตั้งแต่ตื่นจนหลับ

วันๆ หนึ่งเอาเวลาไปทิ้งเยอะแยะเลย แล้วบอกภาวนามาหลายปีแล้วไม่ได้ผล จริงๆ ภาวนาน้อยมากเลย ถ้าเราแทรกการปฏิบัติเข้าไปในการดำรงชีวิตได้ การภาวนาของเราเยอะแยะเลยวันๆ หนึ่ง คำว่าไม่มีเวลาภาวนาจะไม่มีหรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก “ถ้ามีเวลาหายใจ ก็มีเวลาปฏิบัติ” ถ้าไม่ได้หายใจแล้ว ตายไปแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติ ที่บอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัตินั่นมันข้ออ้าง ถ้าเรารวมการปฏิบัติเข้ากับการใช้ชีวิตจริงได้ มีเวลาตลอดเลย

อย่ามัวแต่รอถามครูบาอาจารย์

เวลาเราภาวนาแล้วเกิดข้อสงสัยขึ้นมา ไม่ต้องไปคิดมาก แขวนข้อสงสัยไว้ แล้วภาวนาของเราไปเรื่อยๆ มันจะรู้สักวันหนึ่ง จะนานเท่าไหร่ก็ช่างมัน เราก็ภาวนาของเราไป ถึงจุดหนึ่งมันก็เข้าใจขึ้นมา ตรงที่จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา ปัญญามันจะเกิด ฉะนั้นการภาวนาไม่ใช่การมานั่งถามครูบาอาจารย์ตลอดเวลา แต่ปฏิบัติไป ถ้าจิตมันมีสติ จิตมันมีสมาธิ แล้วปัญญามันเกิด มันตอบปัญหาได้เอง

สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก

สติปัฏฐานคือมีสติอยู่ในฐานกาย เวทนา จิต ธรรม ฐานใดฐานหนึ่ง ถ้าเมื่อไรไม่มีสติรู้กาย ไม่มีสติรู้ใจ เมื่อนั้นไม่ได้ทำสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบอกสติปัฏฐานเป็นเอกายนมรรค เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น จิตจะเข้าถึงความสิ้นตัณหาได้ต้องทำสติปัฏฐาน ไม่มีทางเลือกทางที่สอง