ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

ดับทุกข์ที่ตัวเหตุ

ชาวพุทธเราเอาชนะความอยากด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านมองลงไปต่อว่าความอยากมันมาจากอะไร หลักของเราชาวพุทธ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะมองไปว่า ต้นตอ ต้นเหตุของปัญหาคืออะไร แล้วเราก็ไปแก้ที่ต้นเหตุ นี่เป็นวิธีการของชาวพุทธ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นมาเป็นผล มันก็ต้องมีเหตุ ชาวพุทธเราเวลามีปัญหา เราจะมองไปที่ต้นเหตุของปัญหา อะไรเป็นเหตุ แล้วไปแก้ที่เหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นก็ดับ นี่เป็นธรรมะสำคัญ พื้นฐานเลยของเราชาวพุทธ การที่จะดับผล เราดับที่ตัวผลไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็สอนอะไรเป็นเหตุของมัน แล้วก็สอนความดับ คือดับเหตุของมันนั่นล่ะ ถ้าเราดับเหตุของทุกข์ได้ ความทุกข์มันก็ดับ ฉะนั้นเราต้องดับที่ตัวเหตุ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้า

รู้จักคำว่าหยุดเสียบ้าง

มาถึงวันนี้พวกเราจะได้ยินคำว่าไม่มีเวลาบ่อย เวลาเราก็เท่าๆ กับคนโบราณ แต่ทำไมเรารู้สึกมันไม่พอทั้งๆ ที่เราพยายามทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นๆ เวลากลับรู้สึกว่าสั้นลงเรื่อยๆ ไม่พอ มันไม่พอใจที่มันดิ้นรน ใจที่มันหิว ใจที่มันอยาก การที่ต้องเคลื่อนที่เร็วตลอดเวลา เหนื่อย บางทีเหนื่อยจนกระทั่งไม่มีเวลาหยุดคิดทบทวนว่าเราวิ่งไปเพื่ออะไร วิ่งตามๆ กันไปเท่านั้นเอง ถ้าเรารู้จักคำว่าหยุดเสียบ้าง ชีวิตเราจะมีคุณค่ามากขึ้น เราจะรู้สึกชีวิตมีเวลามากขึ้น ยิ่งทำอะไรเร็วขึ้นเรื่อยๆ เวลายิ่งน้อยลง แต่ว่าเรารู้จักหยุด เราก็จะมีเวลาอยู่กับตัวเองได้เยอะขึ้น เวลาเราต้องทำมาหากินอยู่กับโลก ต้องแข่งขัน ต้องอะไรมากมาย ก็รู้จักเบรกตัวเองเป็นช่วงๆ แบ่งเวลาแต่ละวัน หรือแต่ละช่วงเวลา หัดแบ่งเวลาไว้เป็นเวลาของการหยุดอยู่กับตัวเอง ไม่ใช่วิ่งตามโลกไปเรื่อยๆ

ความสุขในโลกเป็นน้ำตาลเคลือบยาพิษ

ยาพิษร้ายแรง คือทำให้เราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่รอด น้ำตาลหวานๆ คืออะไร คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรที่น่าเพลิดเพลินทั้งหลาย ความสุขจอมปลอมทั้งหลายเอาไว้หลอกคนโง่ให้หลงอยู่ แต่ผู้รู้ไม่ติดข้อง สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องมือของมาร เป็นอาวุธของมารในการที่จะจับพวกเราเอาไว้ในอำนาจ คือกามนี่ล่ะ เครื่องมือของมาร จะจับเราเอาไว้ แล้วสัตว์โลกก็ถูกมารนี้ล่ะจับเอาไว้ ดิ้นรนแสวงหาความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ดิ้นแสวงหากันไป สุดท้ายทุกอย่างก็ว่างเปล่า มีเงิน สุดท้ายเงินก็เป็นของคนอื่น มีบ้านสุดท้ายบ้านก็เป็นของคนอื่น มีลูกมีเมีย สุดท้ายก็เป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของเราอยู่ดี กระทั่งร่างกายนี้ ของเราๆ สุดท้ายก็ต้องถูกคนเอาไปเผาทิ้ง มันว่างเปล่าไปหมด เรื่องของโลกหาสาระไม่ได้ เมื่อเรามีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ลงมือแสวงหาความสุขที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปเป็นลำดับๆ ไป ความสุขจากการฝึกจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ความสุขของสมาธิ ความสุขจากการที่จิตมันเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกอะไรพวกนี้ มีความสุขผุดขึ้นมา เป็นความสุขจากการเจริญปัญญา ถ้าความสุขจากการสัมผัสพระนิพพาน อันนั้นเป็นบรมสุข เป็นความสุขที่ไม่มีเครื่องเสียดแทง

ศีล 5 มีประโยชน์มาก

ความชั่วแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ อะไรก็อย่าทำ ศีล 5 รักษาเอาไว้ อย่างน้อยเราไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง เป็นความชั่ว ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ละเว้นการทำชั่ว การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยร่างกาย ไปฆ่าเขา ไปขโมยเขา เป็นชู้เขา ข้อ 4 เราไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยวาจา รวมแก๊งรวมก๊วนไปด่าคนโน้นด่าคนนี้ก็กรรม ส่วนข้อ 5 ไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเอง ไม่เสพสิ่งเสพติด ศีล 5 มีประโยชน์มาก อย่างน้อยเราก็ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง ใจที่ไม่เบียดเบียนใจมันร่มเย็น สมาธิมันก็เกิดง่าย สมาธิไม่ใช่แปลว่าสงบ มันเป็นภาวะที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้ามีสมาธิมากพอ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ต้องจงใจทำขึ้นมา ไม่ต้องรักษา มันเป็นอัตโนมัติ สติก็อัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ ปัญญาสุดท้ายก็อัตโนมัติ

ต้องมีวิหารธรรม

เราก็ต้องดูว่าวิหารธรรมอันไหนพอเหมาะพอควรกับเราเอง ถ้าใช้ร่างกายที่หายใจเป็นวิหารธรรม คืออานาปานสติมันละเอียดเกินไป มันหายใจตลอดเวลารู้สึกละเอียดไป จิตมันก็ทรงอยู่ไม่ได้ เลยหลงไปง่าย จะใช้อิริยาบถ 4 เป็นวิหารธรรมก็หยาบเกินไป ก็เลยใช้อิริยาบถย่อย อิริยาบถย่อย ร่างกายจะขยับท่าไหนก็ได้ หันซ้ายหันขวาคอยรู้สึก เรียกว่าเรามีบ้านให้จิตอยู่แล้ว จิตมันก็จะมีเรี่ยวมีแรง เหมือนอย่างคนเรามีบ้านอยู่ก็ได้พักผ่อนสบาย ไม่วอกแวกจรจัด เดี๋ยวมันก็จรไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จรไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาโผฏฐัพพะ จรไปแสวงหาธรรมารมณ์ต่างๆ จิตที่จรจัดไปเรื่อยๆ ไม่มีแรงหรอก เหนื่อย

ภาวนาตั้งแต่ตื่นจนหลับ

วันๆ หนึ่งเอาเวลาไปทิ้งเยอะแยะเลย แล้วบอกภาวนามาหลายปีแล้วไม่ได้ผล จริงๆ ภาวนาน้อยมากเลย ถ้าเราแทรกการปฏิบัติเข้าไปในการดำรงชีวิตได้ การภาวนาของเราเยอะแยะเลยวันๆ หนึ่ง คำว่าไม่มีเวลาภาวนาจะไม่มีหรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก “ถ้ามีเวลาหายใจ ก็มีเวลาปฏิบัติ” ถ้าไม่ได้หายใจแล้ว ตายไปแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติ ที่บอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัตินั่นมันข้ออ้าง ถ้าเรารวมการปฏิบัติเข้ากับการใช้ชีวิตจริงได้ มีเวลาตลอดเลย