สติมีหน้าที่รักษาจิต

เรามีสติคุ้มครองรักษาจิตตนเองไปเรื่อยๆ คุ้มครองไม่ใช่ไปเฝ้าไม่ให้จิตกระดุกกระดิก มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองนั่นล่ะ คอยอ่านจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง เราไม่ต้องรักษาจิต รักษาอย่างไรก็ไม่ได้ สติจะทำหน้าที่อารักขา อารักขาคือมันทำหน้าที่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย จิตก็ได้รับความคุ้มครองได้รับการดูแล ไม่ทำผิดศีล ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความตั้งมั่น แล้วการที่เรามีสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้อะไรก็ตาม อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ได้

การรู้สึกกายรู้สึกใจ 2 ขั้น

การที่เรารู้สึกกาย รู้สึกจิตมี 2 สเต็ป ขั้นแรก รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจตัวเอง ร่างกายมีอยู่ รู้สึก ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมีอยู่ รู้สึก ถัดจากนั้น ก็รู้ให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ทีแรกเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ ลึกลงอีกชั้นหนึ่ง รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ตรงนี้เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้

การที่หลวงพ่อบอกให้มีสติ คือคอยรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ อันนี้สมถะ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ อันนี้คือวิปัสสนา ทำสมถะก็ต้องมีสติ ทำวิปัสสนาก็ต้องมีสติ ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ หลวงปู่มั่นสอนชัดเจน “มีสติคือมีการปฏิบัติ ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ” ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว เดินจงกรมแล้วก็เครียด ไม่ได้ปฏิบัติ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้นรู้สึกตัวให้เป็นแล้วการปฏิบัติธรรมจะไม่ยากเท่าที่คิดหรอก

อารมณ์บัญญัติ – อารมณ์ปรมัตถ์

อารมณ์มี 2 ส่วน อารมณ์หนึ่งเป็นสภาวธรรม อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่สภาวธรรม เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ ไม่มีสภาวะรองรับ อย่างเรื่องราวที่เราคิดอาศัยความจำ เรื่องราวที่คิดขึ้นมาท่านเรียกอารมณ์บัญญัติ อารมณ์บัญญัติไม่จัดว่าเป็นสภาวธรรม อารมณ์ที่เป็นสภาวธรรมมันมี 3 อย่างคือรูปธรรม รูปที่จิตไปรู้เข้าเป็นอารมณ์ เรียกอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นอารมณ์จริงๆ เป็นของมีจริง มีไตรลักษณ์ เวลาดูที่จะเจริญปัญญา ต้องเห็นสภาวธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

ความสม่ำเสมอสำคัญมาก

เราภาวนาของเราทุกวันๆ สม่ำเสมอ ฝึกมีสติ มีจิตตั้งมั่น สม่ำเสมออยู่ เวลาเราลงมือปฏิบัติ มันจะไม่ต้องเพ่ง ก็ใช้จิตธรรมดาของเรานี้ล่ะ ภาวนาเข้าไปเลย ถ้าเราวันๆ เราปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสไปเรื่อย แล้วมาลงมือปฏิบัติค่ำๆ มาลงมือปฏิบัติ อย่างไรก็เพ่ง เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา เหวี่ยงข้างซ้ายไปแรง เหวี่ยงกลับมาข้างขวามันก็แรงด้วยล่ะ หลงแรงก็เพ่งแรง ในทางกลับกัน เพ่งแรง พอปล่อยออกมาหลงแรง หลงแรงกว่าคนธรรมดาอีก