เรียนรู้ความจริงของขันธ์ 5

เราฟังแล้ว เราก็ไปลงมือทำ ถ้าเดินอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ เดินครบทุกขั้นทุกตอน ตามลำดับมาเลย ทำสมถะให้จิตมีกำลัง ให้จิตตั้งมั่น แล้วเจริญปัญญาเห็นความจริงของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณคือจิตนั้นล่ะ มันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปก็พบว่า ไม่มีเราตรงไหนเลย รูปไม่ใช่เรา เวทนา สัญญา สังขาร ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา ตรงนั้นล่ะเราจะได้ธรรมะแล้ว ได้โสดาบันแล้ว วันนี้เทศน์ตามลำดับขั้นตอน ครบทั้งหลักสูตรเลย แต่บางคนเรียนข้ามขั้นได้ อย่างหลวงพ่อไม่ได้เริ่มจากรูป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อตัดเข้าที่จิตเลย แล้วหลวงพ่อดูจิตที่จิต หลวงพ่อเห็นเวทนาทางใจ เห็นสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทางใจ แล้วเห็นจิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้หลง ตัดเข้ามาตรงนี้เลย ก็ย่นย่อหน่อย ถ้าดูเข้ามาตรงนี้ไม่ได้ ก็ดูร่างกายถูกรู้ ไม่ใช่เรา ดูไป เวทนาทางกายถูกรู้ ไม่ใช่เรา ไล่ไปอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็เจอจิตจนได้

ความจริงของสภาวธรรม

อันแรกเราเห็นตัวสภาวะ เช่น ความโกรธเกิดขึ้น ความโลภเกิดขึ้น ความหลงเกิดขึ้น ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่เกิดขึ้น ความสุขความทุกข์เกิดขึ้น นี้เป็นสภาวธรรม แต่พอเราดูไปชำนิชำนาญ เราจะเห็นว่าสภาวธรรมทุกตัวเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ความสุขที่พวกเรามีอยู่ เห็นไหมในชีวิตเราความสุขผ่านมาตั้งเยอะแยะ แล้วดับทั้งสิ้น ความทุกข์ในชีวิตของเรามากมาย แต่ความทุกข์ทุกชนิดเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น กุศล อกุศล ทั้งหลาย โลภ โกรธ หลง เราก็โกรธวันหนึ่งหลายครั้ง แต่ว่ามันก็อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับ
เห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตัวไหนเกิดก็รู้ไป แล้วก็เห็นมันดับไป ถึงจุดหนึ่งปัญญามันแก่กล้า มันสรุปได้ด้วยตัวของมันเอง ว่าทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น

อย่ามัวแต่เถลไถล

พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมจบแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว จบลงที่ไหน จบลงที่จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันพ้นแล้ว มันไม่มีงานที่จะต้องทำต่อ เพื่อจะให้จิตหลุดพ้นอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องทำแล้ว หลุดแล้วหลุดเลย ฉะนั้นชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว มันรู้สึกอย่างนั้น นั่นล่ะที่สุดของทุกข์

ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงธรรมนั้นเอง ธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ตัวนี้มันเป็นธรรมะเหนือโลก เหนือขันธ์ เหนือวัฏสงสาร ไม่อย่างนั้นยังไม่มีจุดสิ้นสุด ก็ยังเวียนว่ายไปเรื่อยๆ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แค่เข้าใกล้ แล้วปุถุชนอย่างพวกเรา มันจะเห็นไหม ไม่เห็นหรอก ต้องฝึกตัวเองให้มาก อย่าวุ่นวายเถลไถล ที่น่าห่วงเลยก็คือพวกเราชอบเถลไถล ตั้งใจภาวนาเอาจริงเอาจัง ยังไม่ค่อยจะรอดเลย แล้วเถลไถล แล้วมันจะรอดหรือ มันไปไม่รอดหรอก นี่ล่ะกฎแห่งกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ หรือทำในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ได้

สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์

การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำสมถะ สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์เป็นของที่คู่กับจิต เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นก็ต้องมีจิต ของคู่กัน

เรื่องของสมถะไม่ใช่มีแค่เรื่องเข้าฌาน ไม่ได้แคบแค่นั้นหรอก สมถกรรมฐานในตำราเขาบอกไว้ว่าใช้อารมณ์อะไรก็ได้ อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดก็ได้ อย่างคิดเรื่องปฏิกูลเรื่องอสุภะ คิดพิจารณาร่างกาย คิดอะไรนี้ เป็นเรื่องคิดทั้งนั้น หรือคิดพิจารณาชีวิต พิจารณาซากศพ เป็นเรื่องคิดเอา ไม่มีสภาวธรรมรองรับ เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ ก็ใช้ทำสมถะได้ อารมณ์รูปธรรมก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ลมหายใจเป็นรูป เดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดินแล้วคอยรู้สึกไว้ จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น นี่ก็เป็นสมถะ เห็นท้องพองเห็นท้องยุบจิตไม่หนีไปที่อื่น อันนี้ก็เป็นสมถะ ใช้รูปก็ได้ ใช้นามก็ได้ ทำสมถะ

เห็นสภาวะ แต่จิตไม่มีกำลังมากพอ

คำถาม:

ทำสมาธิภาวนา เห็นว่ากายไม่มี กายว่างเปล่า มีจิตเป็นตัวรู้สภาวะ เห็นจิตเกิดดับบังคับไม่ได้ค่ะ ขอคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไปค่ะ

 

หลวงพ่อ:

เห็นก็ดีแล้ว แต่ใจมันต้องแข็งแรงกว่านี้หน่อย ใจยังไม่ค่อยมีกำลังหรอก มันเห็นไปอย่างนี้ มันต้องเห็นแบบ แหม องอาจ ผึ่งผาย อืม เห็น ถ้าเห็นอย่างนี้ เห็นแบบเหี่ยวๆ อย่างนี้ จิตไม่มีกำลังพอ หนูลองหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้น เราทำทุกวันๆ หรือเราเดินจงกรมไป เคลื่อนไหวแล้วทำในรูปแบบไปเรื่อยๆ จิตเราจะมีกำลังขึ้นมา ของหนูนี่ไปทำในรูปแบบ ทำไปเรื่อยๆ พอจิตมันมีกำลังเข้ามา มันจะเห็นสภาวะแล้ว ที่ผ่านมามันเห็นสภาวะ แต่มันเห็นแบบจิตใจห่อเหี่ยวไปหน่อย มันยังไม่มีแรงที่จะตัดกิเลสเลย นี้ถ้าใจเราเข้มแข็ง ทำในรูปแบบทุกวันๆ ใจจะมีกำลังขึ้นมา พอเห็นสภาวะปุ๊บ บางทีปัญญามันตัดเลย เห็นสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เข้าใจขึ้นมา ฉะนั้นเราเพิ่มพลังของสมาธิขึ้น แล้วการเดินปัญญามันจะราบรื่นขึ้น มิฉะนั้นเราเหมือนจะเห็นๆ แต่มันไม่มีแรงพอ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564