วิมุตติเกิดเมื่อเห็นไตรลักษณ์มากพอ

พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ ตัวตัณหา ตัวราคะ

วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น

เดินให้ถูกทาง

ถ้าเราปฏิบัติถูกทาง อยู่ในทางสายกลาง แล้วเราก็ไม่ไปมีอุปสรรคกลางทาง วันหนึ่งเราก็ต้องถึงพระนิพพานแน่นอน ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นสิ่งที่ขวางเรา ไม่ให้ไปพระนิพพาน ไม่ใช่ใครอื่น คือใจที่อ่อนแอของเราเอง ถ้าเราไม่รู้ทาง เราไปไม่ได้ ถ้ารู้ทางแล้วอ่อนแอก็ไม่ยอมไป ใช้ไม่ได้

หลวงปู่ดูลย์สอนให้หลวงพ่อรู้จักเดินทางสายกลาง ไม่เผลอลืมจิตใจของตนเอง ไม่ไปเพ่งจ้องบังคับจิตใจของตัวเอง ไม่สุดโต่ง 2 ข้าง ถัดจากนั้นหลวงพ่อดูทุกวัน ไม่เคยเลิกเลย การภาวนาไม่หยุดเลย อยู่ตรงไหนก็ปฏิบัติได้ ถึงเวลาสมควรทำสมถะก็ทำ ถึงเวลาที่จิตมีกำลังพอจะเดินปัญญา ก็เดินปัญญา ไม่เกยตื้น สำรวจตัวเองอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้นเราก็สำรวจตัวเอง เดินให้ถูกทางก่อน หลวงพ่อพูดง่ายๆ ทางสายกลาง ไม่เผลอ ไม่เพ่ง 2 ตัวนี้ เผลออยู่ก็คือกามสุขัลลิกานุโยค เพ่งอยู่คืออัตตกิลมถานุโยค ไม่เผลอ ไม่เพ่ง คือภาวะแห่งการรู้ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น นี่เราเดินอยู่ในทางสายกลางแล้ว แล้วอย่าไปติดไปค้างอะไรอยู่กลางทาง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติไป ถึงวันหนึ่งเราก็จะถึงพระนิพพาน