จุดตั้งต้นของการปฏิบัติ

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถ้าไม่รู้สึกตัวปฏิบัติไม่ได้จริง ได้อย่างมากก็ได้สมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ เผลอๆ เพลินๆ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวเลยในการที่จะเอาชนะกิเลส มันประหลาด เราทุกคนรักตัวเองที่สุด แต่เราลืมตัวเองบ่อยที่สุด เราสนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจตัวเอง ทั้งๆ ที่รักที่สุด พอเราไม่สนใจตัวเอง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีความรู้สึกตัว เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ ถ้าไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ โอกาสที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจก็ไม่มี ปล่อยไม่ได้ก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะกายกับใจนั้นคือตัวทุกข์

วิมุตติเกิดเมื่อเห็นไตรลักษณ์มากพอ

พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ ตัวตัณหา ตัวราคะ

วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น

ธาตุ 6

ธาตุไม่ได้มีแค่ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ ยังมีวิญญาณธาตุอีกตัวหนึ่ง วิญญาณธาตุของสัตว์ทั้งหลาย มันไม่ได้สะอาดเหมือนดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มันปนเปื้อนด้วยความปรุงแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันปนเปื้อนด้วยกิเลส ฉะนั้นเราก็จะค่อยภาวนา เพื่อซักฟอกจนกระทั่งธาตุวิญญาณธาตุนี้ เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากความยึดมั่น ถือมั่นในสังขารทั้งปวง หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง

ศีลและสมาธิเพื่อการเจริญปัญญา

เราเดินตามแผนผังที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้เรา อย่ากระโดดข้ามขั้น ไม่ใช่ไม่มีศีล ก็โดดขึ้นไปทำสมาธิ ไม่มีศีลแล้วไปทำสมาธิได้ไหม ก็ได้ แต่มันก็จะเกเรแบบเทวทัต เทวทัตทำสมาธิได้แต่เทวทัตไม่มีศีล สุดท้ายเทวทัตก็ลงอเวจี เจริญปัญญาโดยไม่มีสมาธิ ก็เป็นไปไม่ได้ แบบเรียนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา มีขั้นมีตอน มีลำดับที่ชัดเจน ก่อนเจริญปัญญานั้นต้องมาฝึกจิตให้ตั้งมั่นก่อน ก่อนที่จะลงมือฝึกจิตนั้น ต้องตั้งใจรักษาศีล 5 ให้ได้ก่อน ให้เด็ดเดี่ยวลงไป ถ้าเรารักษาศีลของเราไว้ได้ดี เราจะไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา เราจะเหลือความชั่วทางใจ ซึ่งอันนี้ล่ะเราจะล้างมันด้วยสมาธิและปัญญา ศีลเป็นเครื่องขัดเกลากายวาจาเราให้สะอาดหมดจด ไม่ทำผิดทางกาย ทางวาจา สมาธิและปัญญาเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้สะอาดหมดจด

อย่าเป็นตุ่มรั่ว

เราพยายามพัฒนาสติของเราตั้งแต่ตื่นจนหลับ คอยเอาสตินี้ล่ะอ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ศีลเราจะดี สมาธิเราจะพัฒนา มันจะไม่มีลักษณะของตุ่มรั่ว เรามีสติอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ถึงเวลานั่งสมาธิแป๊บเดียวก็สงบแล้ว ไม่ยาก แต่ถ้าฟุ้งซ่านทั้งวัน ไปนั่งสมาธิก็นั่งฟุ้งๆ แป๊บเดียวก็หลับ ทำไมมันหลับเก่ง จิตมันเหนื่อยเต็มทีแล้ว มันฟุ้งซ่านมาทั้งวันแล้ว มันต้องการพักแล้ว แต่ถ้าเรามีสติอยู่ทั้งวัน จิตมันไม่เหนื่อย ร่างกายอาจจะเหนื่อย พักผ่อนเสียหน่อยหนึ่งก็หาย แต่จิตมันไม่เหนื่อย สมมติร่างกายเราเหนื่อยมากจริงๆ ก็นอน นอนไปหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป จิตใจกลับไปคิดเรื่องงาน คิดเรื่องคนอื่น วุ่นวายขึ้นมา มีสติรู้ทัน

ฉะนั้นการปฏิบัติ พยายามมีสติรู้ทันจิตใจตัวเองไป ศีลมันก็จะเกิดขึ้น สมาธิมันก็จะเกิดง่าย พอเรามีสติ เรามีศีล เรามีสมาธิแล้ว มันเกื้อกูลให้เกิดปัญญา

การรู้สึกกายรู้สึกใจ 2 ขั้น

การที่เรารู้สึกกาย รู้สึกจิตมี 2 สเต็ป ขั้นแรก รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจตัวเอง ร่างกายมีอยู่ รู้สึก ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมีอยู่ รู้สึก ถัดจากนั้น ก็รู้ให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ทีแรกเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ ลึกลงอีกชั้นหนึ่ง รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ตรงนี้เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้

การที่หลวงพ่อบอกให้มีสติ คือคอยรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ อันนี้สมถะ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ อันนี้คือวิปัสสนา ทำสมถะก็ต้องมีสติ ทำวิปัสสนาก็ต้องมีสติ ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ หลวงปู่มั่นสอนชัดเจน “มีสติคือมีการปฏิบัติ ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ” ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว เดินจงกรมแล้วก็เครียด ไม่ได้ปฏิบัติ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้นรู้สึกตัวให้เป็นแล้วการปฏิบัติธรรมจะไม่ยากเท่าที่คิดหรอก

ไม่ต้องแสวงหาความว่าง

เราได้ยินคำว่า “ว่างๆ” อย่ามาว่าง พยายามรู้ พยายามดูกายอย่างที่กายเป็น ดูจิตอย่างที่จิตเป็นไป เดี๋ยววันหนึ่งก็จะเห็น กายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สิ่งที่มันไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์ สิ่งที่มันเป็นทุกข์ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดถือ จิตมันก็หมดความยึดถือ มันก็เป็นอิสระขึ้นมา ไม่ต้องโหยหาความว่าง ไม่ต้องแสวงหาความว่าง ยิ่งแสวงหา ยิ่งไม่เจอ เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ ให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจไป ถึงวันที่วัฏฏะมันถล่มลงไป เดี๋ยวมันว่างเอง กายใจก็คือตัวโลก ว่าง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นปรากฏการณ์เกิดดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย มีเกิด มีดับ

ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ

ความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุดเลยสำหรับการปฏิบัติ พวกเราต้องรู้สึกตัวให้ได้ หลุดออกจากโลกของความฝัน มาอยู่ในโลกของความจริงให้ได้ มีกายก็ให้รู้สึกว่ามันมีร่างกาย มีจิตใจก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ ไม่ใช่มีกายก็ลืม มีใจก็ลืม คิดฝันเพ้อเจ้อตลอดเวลา ถ้าเราสามารถรู้สึกกายรู้สึกใจได้ เราก็จะสามารถเรียนรู้ ความจริงของร่างกายของจิตใจได้ ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา