เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องลึกลับ มันเป็นการเปลี่ยนจุดที่มอง แทนที่จะมองออกไปข้างนอก ก็มองย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้แล้วมันจะไปได้อย่างรวดเร็ว พอเราเรียนรู้ลงที่จิตใจบ่อยๆ เราจะเริ่มเห็นความจริง จิตใจนี้มันเป็นไตรลักษณ์ จิตใจมันเป็นไตรลักษณ์ เวลามันมีความสุข มันมีความทุกข์ หรือมันเป็นกุศล หรือมันโลภ โกรธ หลงก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ชั่วคราว ความสุข จิตใจมีความสุข ก็สุขชั่วคราว จิตใจมีความทุกข์ ก็ทุกข์ชั่วคราว จิตใจเป็นกุศล ก็เป็นกุศลชั่วคราว จิตใจโลภ โกรธ หลง ก็โลภ โกรธ หลงชั่วคราว เราเห็น อย่างนี้เรียกว่าเห็นอนิจจัง

บังคับตัวเองจนเพี้ยน

ทำกรรมฐานไป เลือกอารมณ์กรรมฐานที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ รู้อารมณ์กรรมฐานนั้นด้วยใจธรรมดาๆ ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็สงบ จิตได้พักผ่อน จิตได้พักผ่อนโรคบ้าที่ควรจะเป็นมันก็ไม่เป็นแล้ว ส่วนที่ภาวนาแล้วเป็นบ้าก็เพราะอะไร เพราะไปทำกรรมฐานแล้วก็ยิ่งบังคับจิตใจตัวเองให้มากขึ้นๆ จิตไม่สงบจะบังคับให้สงบอย่างนี้ เหมือนน้ำเชี่ยวไปขวางเรือ เอาเรือไปขวางน้ำ เรือก็ล่ม เราไม่ได้ทำแบบนั้นหรอก ที่ทำกรรมฐานแล้วเพี้ยน เพราะว่าทำแล้วเครียด ถ้าทำตามหลักที่หลวงพ่อบอก ไม่เครียด ไม่บ้า

เส้นทางที่ลัดสั้น

เราภาวนา เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเองให้ได้ จะรักษาศีลก็รู้เท่าทันจิต เวลาจิตฟุ้งซ่านให้เรารู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วมันสงบเอง เพราะอะไรฟุ้งซ่านเป็นกิเลส ทันทีที่มีสติกิเลสดับเลย จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ตั้งมั่นจิตก็สงบ อาศัยการที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็ไม่ผิดศีล กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็มีสมาธิขึ้นมา อ่านจิตอ่านใจไปเรื่อย จิตเดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็เลว เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ รู้เท่าทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็ได้มรรคได้ผล ตั้งแต่ขั้นต้นเห็นเลยจิตไม่ใช่เรา โลกไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ในขั้นสุดท้ายที่จะแตกหักข้ามภพข้ามชาติ จะเห็นเลยจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 คือทุกข์ โลกทั้งหมดคือตัวทุกข์ เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละสมุทัย เกิดสัมผัส เข้าไปสัมผัส เข้าไปรู้เข้าไปเห็นพระนิพพาน เกิดอริยมรรคขึ้น นี้เป็นเส้นทางที่เราจะเดิน เป็นเส้นทางที่ลัดสั้นมากเลย ตัดตรงเข้ามาที่จิตตัวเอง แล้วบาปอกุศลทั้งหลายเราก็จะไม่ทำ กุศลทั้งหลายมันก็จะเจริญขึ้น

วิมุตติเกิดเมื่อเห็นไตรลักษณ์มากพอ

พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ ตัวตัณหา ตัวราคะ

วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น

ธาตุ 6

ธาตุไม่ได้มีแค่ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ ยังมีวิญญาณธาตุอีกตัวหนึ่ง วิญญาณธาตุของสัตว์ทั้งหลาย มันไม่ได้สะอาดเหมือนดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มันปนเปื้อนด้วยความปรุงแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันปนเปื้อนด้วยกิเลส ฉะนั้นเราก็จะค่อยภาวนา เพื่อซักฟอกจนกระทั่งธาตุวิญญาณธาตุนี้ เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากความยึดมั่น ถือมั่นในสังขารทั้งปวง หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง

อ่านจิตตนเอง

การที่เราอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่แค่จะได้สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่ได้แค่สัมมาวายามะ แต่สติของเราจะเข้มแข็งมากขึ้นๆ ทีแรกต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว สติเราพัฒนาแล้ว ทีแรกต้องมีราคะรุนแรงถึงจะรู้ ต่อไปใจโลภนิดเดียว แค่อยากเห็นรูป ก็เห็นแล้ว อย่างเรานั่งอยู่ ได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ เราอยากฟัง อยากหันหน้าไปดู เราก็รู้ทัน เรารู้ได้ละเอียดขึ้นๆ สติเราเร็วขึ้นๆ นั่นล่ะเป็นสัมมาสติ สามารถระลึกได้โดยที่ไม่ได้เจตนาระลึก

หลวงพ่อเริ่มที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ขึ้นมานี้ เริ่มมาจากประโยคเดียว “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เห็นไหม การอ่านจิตตนเองครอบคลุมองค์มรรคทั้ง 8 ได้ การอ่านจิตตนเองนั้น คือการเรียนรู้ทุกข์นั่นเอง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคอัตโนมัติ ไปฝึกเอา ไปทำเอา ไม่มีใครช่วยใครได้หรอก

ฝึกจิตให้มีกำลังเพื่อเดินปัญญา

ตรงที่เราสามารถเห็นรูปธรรมร่างกายนี้เป็นไตรลักษณ์ เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เราสามารถเห็นได้ว่าสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เห็นกุศลอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น อย่างความโกรธเกิดขึ้น เราก็เห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นเราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ลำพังเห็นตัวสภาวธรรมก็เป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา จะขึ้นวิปัสสนาต่อเมื่อเห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เราจะเห็นได้จิตเราต้องมีกำลัง ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา สังเกตให้ดีเถอะ สิ่งที่หลวงพ่อสอนเป็นเรื่องของการฝึกจิตให้มีกำลังในเบื้องต้น จิตเรามีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว ขั้นต่อไปก็คือเดินปัญญา

อย่าเป็นตุ่มรั่ว

เราพยายามพัฒนาสติของเราตั้งแต่ตื่นจนหลับ คอยเอาสตินี้ล่ะอ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ศีลเราจะดี สมาธิเราจะพัฒนา มันจะไม่มีลักษณะของตุ่มรั่ว เรามีสติอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ถึงเวลานั่งสมาธิแป๊บเดียวก็สงบแล้ว ไม่ยาก แต่ถ้าฟุ้งซ่านทั้งวัน ไปนั่งสมาธิก็นั่งฟุ้งๆ แป๊บเดียวก็หลับ ทำไมมันหลับเก่ง จิตมันเหนื่อยเต็มทีแล้ว มันฟุ้งซ่านมาทั้งวันแล้ว มันต้องการพักแล้ว แต่ถ้าเรามีสติอยู่ทั้งวัน จิตมันไม่เหนื่อย ร่างกายอาจจะเหนื่อย พักผ่อนเสียหน่อยหนึ่งก็หาย แต่จิตมันไม่เหนื่อย สมมติร่างกายเราเหนื่อยมากจริงๆ ก็นอน นอนไปหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป จิตใจกลับไปคิดเรื่องงาน คิดเรื่องคนอื่น วุ่นวายขึ้นมา มีสติรู้ทัน

ฉะนั้นการปฏิบัติ พยายามมีสติรู้ทันจิตใจตัวเองไป ศีลมันก็จะเกิดขึ้น สมาธิมันก็จะเกิดง่าย พอเรามีสติ เรามีศีล เรามีสมาธิแล้ว มันเกื้อกูลให้เกิดปัญญา

อุดมการณ์ของชาววัดสวนสันติธรรม

พวกเรามีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำไปเรื่อยๆ แล้วถ้าดูกายหรือดูจิตไม่ได้ ก็ทำสมถะสลับไป เพื่อเป็นการชาร์จจิตให้มีพลัง

พอจิตมันมีพลังตั้งมั่น สงบ ตั้งมั่นดีแล้ว เราก็เดินปัญญา ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูจิตอย่างที่จิตเป็น โดยใช้หลัก “มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ทำไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งมันรู้ความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ พอรู้ความจริงอย่างนี้มันจะหมดสมุทัย มันจะปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิต มันจะไปอยากอะไรอีก มันปล่อยทิ้งแล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยเป็นอันถูกละ ในขณะนั้นนิโรธคือนิพพานปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาแล้ว

ใช้คำว่า “ปรากฏ” ไม่ใช่ “เกิด” มันมีอยู่แล้วแต่เราไม่เห็น ตอนที่เราหมดตัณหานั่นล่ะ นิพพานคือความสิ้นตัณหา บางทีท่านก็ใช้คำว่า “นิพพาน คือสภาวะที่สิ้นตัณหา” พอสิ้นตัณหาแล้วมันเป็นอย่างไร มันสงบ มันสันติ นิพพานมีสันติลักษณะ คือมันสงบ อย่างวัดนี้ชื่อวัดสวนสันติธรรม สิ่งที่เรียกว่า “สันติธรรม” คือนิพพาน แปลให้ออก ถ้าใครเขาถามว่า ลูกศิษย์วัดสวนสันติธรรม “สันติธรรม” คืออะไร คือพระนิพพาน นี่คืออุดมการณ์ของพวกเราชาววัดสวนสันติธรรม เราจะต้องนิพพานให้ได้ ไม่ชาตินี้ก็ชาติต่อๆ ไป นี่เป็นอุดมการณ์ที่เราตั้งวัดนี้ขึ้นมา

ธรรมะช่วยเราได้สารพัด

ธรรมะช่วยเราได้สารพัด แต่เราไม่เข้าใจคำว่า ธรรมะๆ คิดว่าธรรมะคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม อันนั้นตื้นเกินไป การใช้ชีวิตอย่างมีเหตุมีผลก็เป็นธรรมะแล้ว เป็นธรรมะเพื่อการอยู่กับโลก ธรรมะที่อยู่กับโลก พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้เยอะแยะ จะดูแลครอบครัวอย่างไร ดูแลลูกน้องอย่างไร จะปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างไร ท่านสอนไว้เยอะแยะ เอาไปทำได้ก็ดี ถ้าง่ายที่สุดก็คือเรียนรู้ทันจิตใจตัวเอง ไม่ว่าจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร อย่าให้กิเลสมันครอบงำ

Page 1 of 2
1 2