จุดตั้งต้นของการปฏิบัติ

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถ้าไม่รู้สึกตัวปฏิบัติไม่ได้จริง ได้อย่างมากก็ได้สมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ เผลอๆ เพลินๆ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวเลยในการที่จะเอาชนะกิเลส มันประหลาด เราทุกคนรักตัวเองที่สุด แต่เราลืมตัวเองบ่อยที่สุด เราสนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจตัวเอง ทั้งๆ ที่รักที่สุด พอเราไม่สนใจตัวเอง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีความรู้สึกตัว เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ ถ้าไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ โอกาสที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจก็ไม่มี ปล่อยไม่ได้ก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะกายกับใจนั้นคือตัวทุกข์

ภาวนาไปตามลำดับ

ค่อยๆ ภาวนา ทำไปตามลำดับ ฟังแล้วเหมือนยาก มันยากก็เพราะว่า เราต้องทำมาตามขั้นตอนแล้วมันไม่ยาก ถ้าทำข้ามขั้นตอนมันยาก เรายังไม่ถึงขั้นจะข้ามภพข้ามชาติ ภาวนาค่อยๆ ดูเท่าที่เราดูได้ สิ่งที่เราดูเห็น อะไรที่ยังไม่เห็นไม่ต้องคิดมาก เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาไป เดี๋ยววันหนึ่งก็เห็นเอง วันนี้ไม่เห็นไม่เป็นไร

ตอนนี้สิ่งที่เราหัดเห็น หัดเห็นสภาวธรรม สภาวะของรูปธรรม สภาวะของนามธรรม หัดรู้หัดเห็นตัวนี้ สภาวธรรมมีอีกอย่างหนึ่งคือพระนิพพาน พวกเรายังไม่สามารถรู้เห็นได้ คนที่เห็นพระนิพพานได้ ต้องพระโสดาบันขึ้นไป อย่างได้โสดาบัน บางทีจะให้จิตไปอยู่กับพระนิพพาน ก็พิจารณาขันธ์ 5 ลงเป็นไตรลักษณ์ แล้วพอมันวางขันธ์ 5 มันจะทวนกระแสเข้ามาที่จิต จะสัมผัสพระนิพพาน เพราะมันวางกระแสของโลกไป แต่อย่างเราเป็นปุถุชน ยังไม่เห็นนิพพาน เราก็แขวนเอาไว้ก่อน ไม่ต้องไปหา หาเท่าไรก็ไม่เจอ มันไม่มีร่องรอยให้เห็นหรอก เราดูสิ่งที่เราดูได้