จุดตั้งต้นของการปฏิบัติ

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถ้าไม่รู้สึกตัวปฏิบัติไม่ได้จริง ได้อย่างมากก็ได้สมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ เผลอๆ เพลินๆ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวเลยในการที่จะเอาชนะกิเลส มันประหลาด เราทุกคนรักตัวเองที่สุด แต่เราลืมตัวเองบ่อยที่สุด เราสนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจตัวเอง ทั้งๆ ที่รักที่สุด พอเราไม่สนใจตัวเอง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีความรู้สึกตัว เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ ถ้าไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ โอกาสที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจก็ไม่มี ปล่อยไม่ได้ก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะกายกับใจนั้นคือตัวทุกข์

หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ

ถ้าเราปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เราจะพัฒนาเร็วมากเลย ถ้าเก่งเฉพาะทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เก่งตอนนั้น อยู่ในชีวิตประจำวันปฏิบัติไม่เป็น อ่านจิตอ่านใจไม่ออก รู้สึกกายไม่เป็นอะไรอย่างนี้ ยังไกล หลวงปู่มั่นท่านสอน หลวงพ่อฟังมาจากหลวงปู่สุวัจน์ ตอนท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนบอกว่า “ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ให้ทำสมถะ ทำสมาธิไป” ทำสมาธิ มันจะได้เกิดกำลัง กลับไปดูจิตได้ ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้ แล้วท่านก็สอน สรุป บอกว่า “หัวใจของการปฏิบัติ ตัวสำคัญที่สุด คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน” นั่งสมาธิเก่ง เดินจงกรมเก่ง แต่เจริญสติในชีวิตประจำวันไม่เป็น กิเลสลากไปกินทั้งวันเลย แล้ววันหนึ่งก่อนนอน 1 ชั่วโมงไปนั่งสมาธิ ก็หลงมา 20 ชั่วโมงแล้ว ไปนั่งสมาธิชั่วโมงหนึ่ง สู้กันไม่ไหว ฉะนั้นเราอย่าละเลยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

จิตคือละครโรงใหญ่

เราดูละครเวที บางทีมีดารามาเล่นทีหนึ่งตั้ง สิบตัว ละครเต็มเวที ดูจิตมันก็เหมือนกัน ในสภาวะอันหนึ่งๆ มีตัวละครประกอบกันจำนวนมาก เวลาดูละครเวทีถึงจะมีตัวละครเป็นสิบตัว ยิ่งถ้าเล่นโขนมีหลายสิบตัวเลย เราจะดูตัวที่เป็นตัวที่กำลังแสดง เป็นตัวเอกขณะนั้น ไม่ใช่ตัวเอกต้องเป็นพระเอก นางเอก ตัวเอกหมายถึงตัวที่มีบทบาทหลักในขณะนั้น ดูละครเดี๋ยวก็ดูตัวนี้ เดี๋ยวก็ดูตัวนี้ แต่ว่าดูได้ทีละตัว สังเกตให้ดีเราดูทีละตัวเท่านั้น ดูจิตนี้ก็เหมือนกัน ในขณะหนึ่งๆ มีองค์ธรรมจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยกัน ไม่ใช่จิตมีดวงเดียวแล้วก็มีอยู่ดวงเดียวเท่านั้น มันมีทั้งเวทนาก็มีอยู่ สังขารก็มี สัญญาก็มี ความจงใจ มนสิการ ความใส่ใจที่จะรู้ก็มี ความเป็นหนึ่ง รู้อารมณ์อันเดียวก็มีเรียก เอกัคคตา ความรับรู้เรียกว่าจิต หรือเรียกว่าวิญญาณ ก็มีอยู่ เราดูจิตใจเราเล่นละคร มันเปลี่ยนตลอดเลย เดี๋ยวตัวนี้เล่นๆ เดี๋ยวตัวอิจฉาเล่น เดี๋ยวตัวโกรธเล่น เดี๋ยวตัวรักเล่น เดี๋ยวตัวโลภเล่น เล่นหมุนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตัวเศร้าโศกก็เล่น เดี๋ยวตัวมีความสุขก็เล่นขึ้นมา ดูใจของเราเหมือนดูละคร ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น ไม่ต้องหา